ความอยาก(สำเร็จ)อยู่ที่ไหน ความสำเร็จ(ไม่)อยู่ที่นั่น

206603 ศุภกร เลาหสงคราม

นักจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychologist)


จะเป็นไปได้อย่างไรที่ความอยากสำเร็จอาจทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จ ในเมื่อความอยากนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการลงมือทำ และช่วยผลักดันให้เรามุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย แน่นอนว่าการที่เรามีความอยากที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไร ว่าความอยากนั้นเป็นหนทางสู่ความสำเร็จจริงๆ หรือกำลังทำให้เราหลงทางจนสุดท้ายกลับกลายเป็นความไม่สำเร็จกันแน่

เมื่อไหร่ที่ความอยากความสําเร็จกลายเป็นอุปสรรค

เมื่อเราเอาความสำเร็จไปผูกกับคุณค่าของตัวเรา เวลาที่เราประสบความสำเร็จ เราก็จะใช้มันเป็นตัววัด ว่าเราได้รับการยอมรับจากคนอื่นแล้ว เรามีคุณค่ามากกว่าคนที่ไม่สำเร็จเท่าเรา แต่หากวันใดที่เราได้ไปพบเจอคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่าเรา ความสำเร็จนี่แหละ อาจทำให้เรารู้สึกอิจฉา ถึงขั้นดูถูกและกดดันตัวเอง เกิดความคิดกับตัวเองว่า “เราทำได้แค่นี้เองเหรอ” เกิดเป็นความรู้สึกน้อยหน้า น้อยใจ จนถึงขั้นหมดกำลังใจที่จะทำอะไรให้สำเร็จเลยก็มี นี่คือความอันตรายของความอยากสำเร็จเมื่อเราผูกมันไว้ผิดที่ผิดทาง ผูกติดไว้กับคุณค่าของตัวเรา

อีกสาเหตุหนึ่ง คือ เมื่อเราเอาความสุขไปผูกกับความสำเร็จ ในแต่ละวันผมจะมีการให้คะแนนตัวเอง เหมือนการทบทวนและประเมินผลประกอบการ แต่เป็นผลประกอบการความสำเร็จ ว่าจาก 0 ถึง 10 ผมใช้ชีวิตในวันนั้นๆ ได้ดีแค่ไหน บางวันผมให้คะแนนตัวเอง 8 เต็ม 10 ทั้งที่ตั้งใจทำงานเต็มที่ ไม่มีบกพร่องอะไร จนต้องกลับมาถามตัวเองว่าอีก 2 คะแนนนั้นหายไปไหน ทำให้ได้คำตอบว่า ก็เพราะผมยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังไม่ได้รับการยอมรับ ชีวิตยังไม่ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ นี่คือการที่ผมเอาความสุขไปขึ้นอยู่กับความสำเร็จ เรากุมขังความสุขเอาไว้กับความสําเร็จ ไม่ยอมให้ตัวเองมีความสุขจนกว่าจะสำเร็จ เรามักมองข้ามความสุขที่อยู่ใกล้ตัวเราในตอนนี้ และมองไปยังความสำเร็จที่อยู่แสนไกลข้างหน้าเพียงอย่างเดียว หากลองมองกลับกัน จริงๆแล้ว ความสุขต่างหากคือรากฐานของความสำเร็จ ถ้าเราไม่มีความสุข เราจะมีพลังและกำลังใจในการทำเพื่อความสำเร็จได้อย่างไร หากความสำเร็จของเราต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี แปลว่าเราจะยอมไม่มีความสุขไป 10 ปีเลยหรือ ผลประกอบการชีวิตของเราก็คงไม่มีวันไหนที่จะได้คะแนนเต็ม 10 เสียที

ทําอย่างไรให้ความต้องการที่จะประสบความสําเร็จไม่กลับมาทําร้ายเรา

นอกเหนือจากการพยายามไม่เอาความสำเร็จไปผูกกับคุณค่าของตัวเรา และไม่เอาความสุขไปผูกกับความสำเร็จ ยังมีวิธีที่จะช่วยให้ความอยากสำเร็จของเรานั้นจริงแท้ และไม่ไปเบียดเบียนคุณค่าและความสุขของเรา คือ

1.เข้าใจว่าความหมายของความสําเร็จของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน

เราไม่สามารถนำความสำเร็จของเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นได้ เพราะทุกคนมีความต้องการในชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนเพียงแค่อยากมีครอบครัวที่สมบูรณ์ ไม่ได้ต้องการเงินทองมากมาย บางคนอยากที่จะร่ำรวย และไม่ได้สนใจเรื่องครอบครัวมากนัก ดังนั้น ต่างฝ่ายต่างก็จะมองว่าอีกฝ่ายนั้นมีชีวิตที่ล้มเหลวและไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีตัววัดความสำเร็จที่ไม่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าทรัพย์สินเงินทองจะเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมที่สุดของสังคม เราก็ยังไม่สามารถชี้วัดได้อยู่ดีว่าใครมีความพึงพอใจและมีความสุขกับความสำเร็จนั้นมากกว่ากัน คนสองคนที่มีเงินเท่ากัน คนหนึ่งหาเงินได้จากช่องทางสุจริตในขณะที่อีกคนได้มาจากการโกง เราก็ยังวัดไม่ได้อยู่ดีว่าใครประสบความสำเร็จมากกว่าใคร อันเนื่องมาจากการให้นิยามความหมายของความสำเร็จที่ต่างกัน เราควรพึงตระหนักไว้เสมอว่า ตราชั่งความสำเร็จของเราจะไม่มีวันตรงกับใครเลย สิ่งที่มีคุณค่าสำหรับเรา อาจจะไม่มีคุณค่าใดสำหรับคนอื่นเลยก็ได้ แล้วเราจะมัวไปวัด หรือเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ทำไม

2.เข้าใจว่าความสําเร็จบางทีก็เป็นเรื่องไม่เข้าใครออกใคร

บางคนทั้งเก่งและขยันแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ บางคนไม่เก่ง ไม่ขยัน ทำงานไม่ได้เรื่อง แต่กลับประสบความสำเร็จก็มีให้เห็นทั่วไป ความสำเร็จจึงเป็นสิ่งที่เราจะไปคาดหวังให้มันต้องเป็นไปตามใจเราต้องการไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยอีกมากมายที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา เปลี่ยนจากความคาดหวังให้เป็นความหวังและลงมือทำให้ดีที่สุดดีกว่า

3.สร้างความหมายของความสําเร็จให้กับตัวเอง

การมีนิยามของความสำเร็จของเราเองเพื่อเป็นเสาหลักให้กับชีวิตเป็นสิ่งที่จำเป็น และมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมันจะทำให้เราไม่ไหลไปตามกระแสแห่งความสำเร็จของคนอื่น ไม่นำนิยามความสำเร็จของคนอื่นมากำหนดความสำเร็จของตนเอง นิยามของความสําเร็จที่ผมชอบมากที่สุดมีสองอัน คือ

“Success is peace of mind attained only through self-satisfaction in knowing we made the effort to become the best of which you are capable.”

John Wooden

"Success is liking yourself, what you do, and how you do it."

Maya Angelou

ประโยคแรกมาจาก John Wooden ซึ่งเป็นโค้ชบาสเกตบอลชาวอเมริกันที่ผมยกย่อง เขาได้ให้นิยามความสําเร็จว่า ความสําเร็จ คือ ความสุขที่หาได้จากการที่เรารู้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ตามความสามารถของเรา ผมมองว่าเป็นนิยามที่ดีเพราะว่ามันเป็นความสําเร็จที่เราควบคุมได้จากการลงมือทําในทุกๆ วัน

ส่วนประโยคที่สองมาจาก Maya Angelou นักเขียนและนักเคลื่อนไหวสิทธิพลเมืองชื่อดัง ซึ่งมีความหมายว่า ความสําเร็จ คือ การที่เราชอบตัวเอง ชอบในสิ่งที่เราทํา และวิธีที่เราทำมัน เช่นเดียวกับนิยามแรก ผมชอบนิยามความสําเร็จแบบนี้เพราะว่ามันขึ้นอยู่กับเราและวิธีที่เราใช้ชีวิต ไม่เกี่ยวข้องกับจำนวนเงินในบัญชี ตําแหน่งทางสังคม หรือการถูกยอมรับใดๆ ขึ้นอยู่กับตัวเราเท่านั้นว่าเราชอบตัวเอง และภูมิใจในสิ่งที่เราทําอยู่ไหม และเราพอใจในวิธีการที่เรากําลังทํามันหรือเปล่า

แทนที่จะเอาคุณค่าของเราไปผูกติดไว้กับสิ่งภายนอก ลองโอบรับมันไว้กับตัวเราเอง เป็นผู้มีสิทธิ์ตัดสินเด็ดขาดว่าเราพอใจในความสำเร็จของเราแล้วหรือไม่ ความสุขที่เรานำมันไปชี้วัดกับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ลองดึงกลับมาและ ใส่ใจกับสิ่งที่เราสามารถทำได้ในทุกๆวันแทน เราอาจจะค้นพบว่า ไม่เพียงแต่ว่าจะง่ายขึ้นที่จะมีความสุขแล้วมันก็ทําให้เราประสบความสําเร็จได้ง่ายขึ้นด้วย

Edited by: Avika

ควรพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เมื่อ...

  1. ไม่มีทางออก
  2. อาการไม่ดีขึ้น
  3. พยายามแล้วแต่ไม่ได้ผล

สามารถใช้บริการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือสอบถามรายระเอียดได้ตามลิงก์นี้:

ปรึกษานักจิตวิทยา

สามารถใช้บริการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือสอบถามรายระเอียดได้ตามลิงก์นี้:

ปรึกษานักจิตวิทยา

สามารถให้ความคิดเห็นให้ กําลังใจ และช่วยพัฒนาได้ที่:

แบบฟอร์ม Feedback

ขอบคุณทุกความคิดเห็นและจะเอาไปพัฒนากล่องยาประจําใจครับ

สําหรับท่านที่อยากมีกล่องยาสามัญประจําใจไว้ที่บ้านหรือเป็นของฝากให้คนอื่นเมื่อกล่องยาประจําใจตีพิม สามารถติดต่อสั่งจองได้ที่:

แบบฟอร์มสั่งจองกล่องยาสามัญประจําใจ

หรือ

Line: @schooloflife

Line: @schooloflife

ตัวยาอาจจะใช้ได้กับบางคนแต่อาจจะไม่เหมาะกับบางคน โปรคใช้วิจรณญานและเลือกใช้ได้สิ่งที่เรารู้สึกว่าน่าจะใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้ก็ไม่ต้องใช้

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง