หมดไฟ

หมดไฟเพราะไม่มีความสุข

206603 ศุภกร เลาหสงคราม

นักจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychologist)


เหตุของการหมดไฟ

  • ไม่มีความสุข
  • ไม่มีเป้าหมายในชีวิต
  • รู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรบางอย่าง
  • รู้สึกว่าสิ่งที่ทําอยู่ไม่มีความหมาย
  • ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองไม่ชอบ หรือ จําเป็นต้องทําในสิ่งที่ไม่อยากทําเป็นระยะเวลานาน
  • ผิดสัญญาต่อตัวเอง
  • หมดหวัง ผิดหวังและท้อแท้กับชีวิต
  • ทําอะไรก็ไม่ได้ตามที่หวัง
  • ชีวิตไม่เคยได้พัก ไม่ได้เติมพลัง
  • คิดลบ
  • ชีวิตยุ่งจนไม่ได้ใช้ชีวิต
  • ลืมฟังเสียงในใจของเรา ว่าจริงแล้วมันกําลังเรียกร้องอะไร
  • ชีวิตขาดสมดุล

อาการของการหมดไฟ

  • เศร้า ท้อแท้ หมดกําลังใจ
  • ไม่อยากทําอะไร
  • ไม่อยากใช้ชีวิต
  • ไม่อยากเจอคน
  • ความกระตือรือร้นน้อยลง
  • รู้สึกเคว้งคว้าง เหมือนมีชีวิตอยู่ไปวันๆโดยไม่ได้มีจุดหมายอะไร
  • อยากนอนมากกว่าใช้ชีวิต
  • เหนื่อยทั่งกายและใจตลอดเวลา
  • รู้สึกชีวิตและตัวเองไม่มีค่า
  • มีอาการคลายๆซึมเศร้า

ยารักษาอาการหมดไฟ

จะรักษาอาการหมดไฟก็เหมือนต้องมาจุดไฟใหม่ (3)
-

หมดไฟเพราะไม่มีความสุข

ไฟที่ขาดอากาศไม่นานก็มอด อากาศของจิตใจก็คือความสุข ถ้าตื่นมาแล้วชีวิตมีแต่การคิดลบ มีแต่การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น มีแต่การด้อยค่าตัวเอง เกลียดตัวเอง มีแต่ปัญหาและความเครียดความกังวล มีแต่ทัศนติที่ไม่ได้ส่งเสริมให้เราอยากใช้ชีวิต ไม่ว่าใครก็ต้องหมดไฟ

ส่วนมากแล้วอาการหมดไฟมักจะเป็นอาการสะสมของความทุกข์ ถ้าเราไม่มีความสุขวันเดียว เราก็คงยังไม่ถึงขนาดหมดไฟ แต่ถ้ามันไม่มีความสุขเป็นระยะเวลานาน ไฟในใจก็จะมอดไปทีละนิดจนสุดท้ายก็หมดไฟ

หลักในการรักษาอาการหมดไฟก็คือการกลับมาทําให้ชีวิตมีความสุข หรือจะพูดง่ายๆก็คือการกลับมารักตัวเอง ทําชีวิตให้มันน่าอยู่ ใช้ชีวิตในแบบที่เราอยากใช้ เป็นคนในแบบที่เราอยากเป็น รักษาจิตใจและความคิดที่ขัดขวางความสุข และไม่ทนต่อสิ่งหรือสภาพที่ทําให้เรามีความทุกข์ เช่น ถ้าเราเคร่งเครียดมากเกินไปก็กลับมาพัก มาทําอะไรตามใจตัวเองบ้างเพื่อปลุกความมีชีวิตชีวาให้กลับมา ถ้า วันๆเอาแต่ขี้เกียจ จนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าก็ควรดึงตัวเองออกมา แล้วตั้งใจใหม่ ใช้ชีวิตให้มีความหมาย พยายามหลีกเลี่ยงทัศนติที่มาทําลายความสุขของเรา เช่น การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น... คิดลบ.. กดดันตัวเอง นิสัยแบบนี้เราต้องเลิก แต่ควรส่งเสริมตัวเองให้มีทัศนคติที่คิดเชิงบวกเพื่อที่จะเติมเต็มความสุขในชีวิตใด้มากขึ้น

หลักการในการรักษาความสุขก็มีตามนี้วิธีรักษาความสุข

หมดไฟเพราะใช้ชีวิตไม่ตรงกับเจตนารมณ์: กลับมาบ้านของใจเรา

เราหลายคนรับเอานิยามความสุขและค่านิยมทางสังคมที่ส่งต่อๆกันมาโดยที่เราเองไม่ได้พิจารณา เช่นความเชื่อที่ว่า เราต้องรวยถึงจะมีความสุข เราต้องจบสูงถึงจะมีความสุข เราต้องมีแฟนมีครอบครัวถึงจะมีความสุข เราต้องมีงานดีถึงจะมีความสุข เราต้องหน้าตาดีเท่านั้นถึงมีความสุข แต่เมื่อความสุขมีข้อจํากัดมากมาย สุดท้าย ..สิ่งที่เราเรียกว่าความสุขนั้นก็กลับมาสร้างข้อจํากัดจนกลายความทุกข์ ทำให้เรารู้สึกเหนื่อย.. ผิดหวัง.. สับสน.. แล้วก็หมดไฟในที่สุด

เพราะเหตุนี้เราจึงจําเป็นต้องกลับมาสู่บ้านของใจเราเพื่อทบทวน..พิจารณา..หาความชัดเจนให้กับตัวเอง จนกระทั้งสร้างนิยามและคําตอบใหม่ๆให้กับตัวเองว่าอะไรคือความสุขที่แท้จริง?.. เราเกิดมาเพื่ออะไร?.. สิ่งที่เป็นสาระในชีวิตเราคืออะไรกันแน่? อะไรทําให้ชีวิตเรามีคุนค่าในสายตาเราเอง? นี้เป็นคําถามที่เราควรหาคําตอบให้กับตัวเอง

ถ้าเป็นไปได้ให้เขียนมันลงมาว่าเราอยากใช้ชีวิตนี้ไปเพื่ออะไร เช่น ความดี ความรักที่เรามีต่อพ่อแม่ หรือ ว่าอะไรก็แล้ว แต่เราควรมีเก็บไว้กับตัวเอง เพื่อเตือนสติของเราเองว่าเราอยู่ไปเพื่ออะไร

ไฟจะติดก็ต้องมีเชื้อเพลิง

ความหมดหวังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทําให้เราหมดไฟ อาการหมดหวังมีหลายแบบ

  1. เกิดจากที่เรารู้สึกว่ามันไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นในชีวิต ไม่มีเป้าหมายที่เราสนใจหรือไม่มีอะไรที่เราอยากทําให้สําเร็จ ไม่มีอะไรที่ดึงเราไปเข้าหน้าในชีวิต
  2. เรามีสิ่งที่เราอยากได้อยากทําแต่เราไม่ได้ทํามันหรือ รู้สึกว่าเราไม่สามารถทํามันได้ (ซึ่งอาจจะเกิมมาจากอาการไม่มั่นใจในตัวเอง)

แบบแรกเรามีหน้าที่ที่จะต้องหาให้เจอว่าอะไรที่ทําให้ชีวิตเรามีความหวัง สิ่งที่ทําให้ชีวิตเรามีความหวังนั้นก็สามารถเป็นได้หลายอย่าง เช่น ความดีที่เราอยากทําหรือเคยทําในอดีต ความรักที่เรามีให้ตัวเองหรือคนอื่น สิ่งที่เราหลงใหล ความสวยงาม ความถูกต้อง สิ่งต่างๆที่เรารู้สึกว่ามีคุณค่าต่อชีวิตของเรา หรือบุลคลที่เป็นแรงบันดาลใจในชีวิตเรา พวกนี้เมื่อคิดถึงบ่อยๆ เมื่อเราคิดถึงสิ่งดีๆที่ทําให้เราอยากใช้ชีวิตได้จนเป็นนิสัย นี้ก็สามารถทําให้เรารู้สึกกระตือรือล้นและมีกําลังใจที่จะกลับมาสู้ชีวิตได้อีกครั้ง

แต่ถ้าเป็นกรณีที่สอง หรือ แบบที่เรามีเป้าหมายหรือสิ่งที่เราอยากทําแต่เรากลับไม่ทํามัน อันนี้คําตอบง่ายๆก็คือการก็ต้องกลับไปทํามันให้สําเร็จ ก่อนที่ความฝันหรือสิ่งที่เราอยากทําจะกลายเป็นฝันร้าย

"But every dream, if dreamed too long, turns into a nightmare."

Andrzej Sapkowski

ถ้าเรา ไม่มั่นใจในตัวเองอันนี้เราต้องเริ่มจากการเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองก่อน ทําสิ่งเล็กๆที่เราทําได้ให้สําเร็จก่อนเพื่อที่เราจะได้เรียกความมั่นใจให้มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ถ้าเราอยากอ่านหนังสือเดือนได้ละเล่ม เราก็เริ่มง่ายๆก่อนคือวันละหน้า พอเราทําได้แล้วอย่างสม่ำเสมอ เราก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นในการอ่านวันละสองหน้า และเพิ่มขึ้นไปจนได้เป็นเดือนละเล่ม

แต่ถ้าเราเป็นทั้งสองอย่างทั้งแบบที่หนึ่งและแบบที่สอง คือ ทั้งไม่รู้ว่าอยากได้หรืออยากทําอะไร และก็ไม่เชื่อด้วยว่าตัวเองจะทํามันได้ นี้ก็จะทําให้เรากลายเป็นคนซึมเศร้า ได้ ซึ่งวิธีแก้ก็คือต้องแก้ทั้งสองอย่างไปพร้อมๆกัน

หลายคนไม่ได้หมดไฟเขาเพียงแค่ไม่มีเป้าหมายอะไรที่เขาชอบหรือสนใจ ไฟมันไม่ได้หมดมันแค่ไม่มีเชื้อเพลิง เพราะเหตุนี้เราจําเป็นต้องหาเชื้อเพลิงหรือสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจ สิ่งที่เรารักหรือสิ่งที่เรารู้สึกว่ามีความหมายให้เจอ เพื่อให้สิ่งนั้นเป็นดั่งแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้ที่เราจะสามารถเดินต่อไปได้

จุดไฟในใจทุกวัน

RQEQUETPHDFFMD2KFL43CSBYTY-1024x767

เมื่อเรามีเชื้อเพลิงแล้ว สิ่งที่เราต้องทําต่อไปก็คือเอาเชื้อเพลิงนั้นมาจุดและรักษาไฟในใจเราอย่าให้มอด การจุดไฟในใจเรานั้นเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดแต่ก็เป็นขั้นตอนที่สําคัญที่สุด มันยากเพราะเราเริ่มจากศูนย์ เริ่มจากความเหนื่อย ความหมดแรง ความไม่มีกําลังใจที่จะทําอะไร ดังนั้นมันจําเป็นต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อจะจุดให้ไฟติด เหมือนเวลาที่เราจะก่อกองไฟ เราก็อาจจะต้องเอาหินมาตีกันหลายๆทีจนเกิดประกายไฟ หรือเอาไม้มาเหลาจนเกิดความร้อน

หลักการในการจุดไฟก็คือการเอาชนะใจตัวเอง

ในชีวิตเราก็จําเป็นจะต้องจุดไฟให้ติดเหมือนกัน กิจกรรมที่แนะนําก็คือ:

  • ทุกวันให้ตั้งเจตนารมณ์ให้มั่นคงว่าเราต้องทําอะไรให้สําเร็จบ้างในวันนี้ เพื่อที่เราจะสามารถรู้สึกดีกับตัวเองและชีวิต เขียนมันลงมา ยิ่งละเอียดยิ่งดี ยกตัวอย่าง เราอาจจะเขียวว่า "ถ้าวันนี้ฉันอ่านหนังสือได้หนึ่งบท ฉันก็จะรู้สึกพอใจในตัวเอง" อย่างนี้เป็นต้น การที่เราได้ทําสิ่งเล็กๆพวกนี้ก็คือการจุดไฟในใจเรา จุดให้มีความหวัง ให้มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ให้มีความมั่นใจในตัวเอง เขียนแล้วก็เก็บไว้อ่านเพื่อไม่ให้ลืมหน้าที่ในใจจุดไฟ
  • ใช้ชีวิตให้ตรงตามเจตนารมณ์ของเราให้มากที่สุด หลายๆครั้งคนหมดไฟเพราะไม่ซื่อตรงต่อเจตนารมณ์ของตัวเอง เมื่อเรามีเจตตาอยากทําอะไรแล้วแต่เราไม่ได้ทําตามคําสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเอง ปล่อยปละละเลยเสียงในใจเรา ไฟในใจเราก็ค่อยๆดับ ยกตัวอย่างเช่น เราอยากที่จะไปเรียนต่อเมืองนอก แต่เรากลับไม่ซื่อตรงกับตัวเอง เอาเวลาไปเที่ยวเล่น ไม่อ่านหนังสือ เอาเงินที่ต้องใช้ในการเรียนต่อไปซื้อของที่ไม่จําเป็น เมื่อเราไม่ซื่อตรงต่อตัวเองเช่นนี้ สิ่งที่เราตั้งใจไว้ก็ไม่สําเร็จ และเราเองก็รู้สึกผิดหวังในตัวเอง ความรู้สึกพวกนี้ก็สามารถทําให้เราหมดความเชื่อมั่นในตัวเองจนหมดไฟได้ ดังนั้นใช้ชีวิตให้ซื่อตรงต่อเจตนารมณ์ของเราให้มากที่สุด เพราะมันเป็นการเลี้ยงไฟในใจเราให้ยิ่งลุกโชน

“Happiness is when what you think, what you say, and what you do are in harmony.”

Mahatma Gandhi

ไฟมอดเมื่อลมแรง

ไฟในใจคนเรานั้นจะมอดง่ายกว่าตอนติดเสมอ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีสิ่งรบกวนมากมาย เช่น สื่อออนไลน์, social media, และสิ่งบรรเทิงมากมาย นี้คือลมที่จะค่อยๆพัดไฟในใจเราให้มอดและหลุดออกจากเป้าหมายที่สําคัญในชีวิตเรา จนทําให้เราลืมสิ่งที่ทําให้เรามีไฟ ในบางทีอาจทําให้เราหลงทาง สับสน และกลายเป็นคนที่ใช้ชีวิตไปวันๆอย่างไร้จุดหมาย นี้ก็คือความหมายของหัวข้อที่ว่า ไฟย่อมมอดเมื่อลมแรง โดยเฉพาะเมื่อไฟในใจเรายังไม่แรงมาก การมีสิ่งมารุมเร้ามากเกินไปก็ทําให้ไฟในใจเราดับได้อย่างง่ายดาย

วิธีแก้มีสองวิธีคือ...

  1. การลดละหรือตัดเรื่องที่สามารถมารบกวนชีวิตเรา ยิ่งเราทําชีวิตให้ง่ายและมีระเบียบมากเท่าไรเรายิ่งมีเวลาและโอกาสที่จะไปทําสิ่งที่ส่งเสริมไฟในใจเราได้มากเท่านั้น ไม่มีใครจุดไฟสําเร็จถ้าลมมันแรงมาก ดังนั้นอย่าลืมจัดสรรชีวิตเราให้มีสิ่งรบกวนให้น้อยที่สุด (อ่านวิธีทําให้เรามีสมาธิมากขึ้นได้จากเรื่อง ไม่มีสมาธิ)
  2. การมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทําให้ชีวิตเรามีไฟให้มากขึ้น เช่น ถ้าเรามีเป้าหมายในชีวิต ก็คิดถึงเป้าหมายนั้นบ่อยๆ ตื่นเช้ามาก็เอาเป้าหมายมาอ่านเอามาทบทวน ก่อนนอนก็ลองจินตนาการว่าถ้าเป้าหมายสําเร็จแล้วเราเองจะรู้สึกอย่างไร เป็นต้น ทําอย่างนี้เป็นประจําเพื่อยํ้าเตือนและช่วยให้จิตใจเราfocusในสิ่งที่ทําให้เรามีไฟมากกว่าสิ่งที่ทําให้เราหมดไฟ

หมดไฟเพราะความคิดลบ

มันมีคําพูดฝรั่งที่พูดว่า...

You are your own worst enemy.

ซึ่งแปลง่ายๆว่า ตัวเราเองคือศัตรูที่แย่ที่สุด หลายครั้งคนเราหมดไฟเพราะตัวเราเอง ยกตัวอย่างเช่น มีนิสัยชอบคิดแต่สิ่งที่ทําให้เราหมดหวัง ต่อว่าตัวเอง ว่าตัวเองไม่เอาไหน คิดว่าเราจะทําไม่ได้ทําไม่สําเร็จ ก่อนที่จะลองลงมือทํา มีความคิดว่าตัวเราเองไร้ค่าและไม่มีประโยชน์ ถ้าเปรียบอาการหมดไฟเหมือนไฟที่กําลังจะดับ การที่เราเป็นศัตรูต่อตัวเองเช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการที่เอาน้ำราดลงไปให้ไฟในใจเราดับ จะรักษาอาการหมดไฟได้ก็ต้องมาฝึกที่จะระวังความคิด มีสติคอยตรวจตรา ความคิดไหนไม่จริงและไม่เป็นประโยชน์ก็รีบทิ้งมันไปก่อนที่มันจะมีอํานาจมาครอบงําชีวิตเรา

ไฟแรงมอดง่าย ไฟอ่อนจุดไม่ติด: ความสําคัญของการมีสมดุลย์ที่ถูกต้องและเหมาะสม

ไฟที่แรงเกินไปก็ทําให้ไฟมอดได้ง่าย ส่วนที่ไฟที่อ่อนแรงเกินไปก็ทําให้ไฟติดๆดับๆ การหาสมดุลย์ที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตหรือการทํางานนี้ก็สําคัญมากต่อการรักษาไฟในใจของเราไม่ให้ดับ เหตุหนึ่งที่ทําให้หลายคนหมดไฟก็คือการที่เราทํางานมากเกินไป เราพลักดันตัวเอง บังคับตัวเอง กดดันตัวเอง เราทํางานหามรุ่งหามค่ำโดยไม่สนใจตัวเองหรือความรู้สึกของตัวเองจนเชื่อเพลิงในใจค่อยๆหมดไปอย่างที่เราเองก็ไม่รู้ตัว ซึ่งเมื่อรู้ตัวอีกทีมีมีภาวะหมดไฟไปแล้ว ดังนั้นการจะจุดไฟในให้สําเร็จเคล็บลับอีกอย่างก็คือการที่เราต้องจุดไฟให้พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป หาสมดุลย์ที่เหมาะสมและตรงต่อธรรมชาติของเราให้ได้มากที่สุด ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป ทําแต่พอดีๆ ทําอย่างมีความสุข แล้วไฟในใจของเรานี้จะไม่มอดและอยู่กับเราไปได้นาน

เพิ่มแรงใจด้วยแรงกาย

สุขภาพเป็นรากฐานของชีวิต การมีสุขภาพไม่ดีก็สามารถส่งผลทําให้เรารู้สึกหมดไฟได้เหมือนกัน สําหรับ คนบางคน เพียงแค่เขาเริ่มที่จะมาดูแลตัวเองให้มากขึ้น อาการหมดไฟก็หายไปเลยก็มี บางคนหาสาเหตุมากมายว่าทําไมเขาถึงมีอาการหมดไฟ แต่สุดท้ายก็ค้นพบว่าที่จริงแล้วมันเป็นที่สุขภาพของเขามากกว่าที่เขามองข้ามจนจิตใจไม่มีแรง ร่างกายและจิตใจสัมพันธ์กัน เพราะเหตุนี้เราไม่ควรมองข้าม สิ่งง่ายๆที่เราควรทําและทําได้นั้นก็คือ:

  • การออกกําลังกาย
  • การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ กินพอดีไม่เยอะเกิน
  • นอนหลับให้เพียงพอและเป็นเวลา

ถ้าเรายังบกพร่องในหน้าที่นี้ ก็ดูแลรักษาสุขภาพก่อนเพื่อเป็นรากฐานที่ดีในการเปลี่ยนแปลงชีวิต

ควรพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เมื่อ...

  1. ไม่มีทางออก
  2. อาการไม่ดีขึ้น
  3. พยายามแล้วแต่ไม่ได้ผล

สามารถใช้บริการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือสอบถามรายระเอียดได้ตามลิงก์นี้:

ปรึกษานักจิตวิทยา

สามารถใช้บริการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือสอบถามรายระเอียดได้ตามลิงก์นี้:

ปรึกษานักจิตวิทยา

สามารถให้ความคิดเห็นให้ กําลังใจ และช่วยพัฒนาได้ที่:

แบบฟอร์ม Feedback

ขอบคุณทุกความคิดเห็นและจะเอาไปพัฒนากล่องยาประจําใจครับ

สําหรับท่านที่อยากมีกล่องยาสามัญประจําใจไว้ที่บ้านหรือเป็นของฝากให้คนอื่นเมื่อกล่องยาประจําใจตีพิม สามารถติดต่อสั่งจองได้ที่:

แบบฟอร์มสั่งจองกล่องยาสามัญประจําใจ

หรือ

Line: @schooloflife

Line: @schooloflife

ตัวยาอาจจะใช้ได้กับบางคนแต่อาจจะไม่เหมาะกับบางคน โปรคใช้วิจรณญานและเลือกใช้ได้สิ่งที่เรารู้สึกว่าน่าจะใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้ก็ไม่ต้องใช้

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง

Screen Shot 2566-08-10 at 11.25.47

สับสน

ชีวิตไม่ได้มีความหมายอะไรในตัวของมันเองเพราะมันมีแต่ความหมายที่เรามอบให้กับชีวิต

#กล่องยาสามัญประจําใจ

Screen Shot 2566-05-31 at 12.32.39

ซึมเศร้า

อาหารของความเศร้าคือการที่เรายอมแพ้ต่อความเศร้า

#กล่องยาสามัญประจําใจ