อกหัก

206603 ศุภกร เลาหสงคราม

นักจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychologist)


หาที่พักพิงใจ

ช่วงแรกของอาการอกหักนั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากลําบากที่สุด มันเป็นเวลาที่จิตใจเปราะบาง จนบางที่เราเองก็ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพราะเหตุนี้มันจึงมีความจําเป็นอย่างมากที่เราจะต้องมีความช่วยเหลือจากคนอื่น

ปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยๆก็คือการที่เราเลือกที่จะไม่บอกหรือเปิดเผยตัวเองกับสังคมเพราะรู้สึกเกรียงใจคนรอบข้างไม่อยากเอาความทุกข์ของตัวเองไปลําบากคนอื่น หรือว่า เราอายกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ความคิดแบบนี้เป็นความคิดที่ผิด เพราะถ้ามองในมุมกลับกัน หากคนที่เรารักเขามีความทุกข์อยู่คนเดียว เราก็คงรู้สึกไม่ดี อยากให้เขาเปิดใจคุยกับเรา เราจะได้รับฟังและช่วยเหลือเขา แต่เราเองกลับไม่เคยให้โอกาสนั้นกับคนที่เขารักเรา เรากลับมองตัวเองว่าเป็นภาระ

ดังนั้นให้พึ่งพาคนอื่นให้เป็น โดยเฉพาะโอกาสแบบนี้ อย่าไปคิดว่าเราต้องจัดการหรือแบกรับความทุกข์ไว้อยู่คนเดียว อย่าคิดว่าเราจัดการมันได้คนเดียวทุกครั้ง เพราะคนที่มีอาการอกหักนั้นง่ายที่จะพาตัวเองให้เศร้าให้ดิ่งได้ง่ายอยู่แล้วโดยเฉพาะเวลาที่เราอยู่กับความคิดของตัวเอง คนที่เราควรใช้เวลาด้วยเวลาเราอกหักก็ควรเป็นคนที่รักและเข้าใจเรา พร้อมที่อยู่เขียงข้างเรา อาจจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือว่าถ้าไม่มีก็สามารถไปหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตใจก็ยังได้

อย่าปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความทุกข์

การหากิจกรรมทําเพื่อไม่ให้เราได้มีโอกาสคิดถึงเรื่องที่เราเศร้านี้ก็ถือว่าเป็นการรักษาเบื่องต้นที่ดี เราอาจจะมีกิจกรรมต่างๆที่ดีต่อเราเพิ่มขึ้นมาในชีวิตประจําวัน เช่น การออกกําลังกาย การไปวาดรูป การไปเจอเพื่อน การไปเที่ยว แต่อยากให้เราเลือกทํากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เพราะหากเราเลือกกิจกรรมที่ผิด เช่น การดื่มสุรา การพนัน การไปเที่ยวกลางคืน หรือ อะไรเช่นนี้แล้ว มันก็จะกลายเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับชีวิตเราเพิ่มเติมไปอีก และเมื่อเราเศร้าหรือรู้สึกไม่ดีในอนาคตอีก เราก็อาจจะคุ้นชินและหันหน้าไปแก้ไขปัญหาด้วยกิจกรรมที่ไม่ดีเหลานี้ ซึ่งสุดท้ายก็ยิ่งทําให้ชีวิตเราแย่ลง

ถ้าดี เราควรสร้างระบบหรือระเบียบวินัยให้กับตัวเองเพื่อให้เราไม่มีช่องว่างที่จะรู้สึกไม่ดี ต่อให้เราไม่มีอารมณ์ก็ให้เราดึงตัวเองออกไปทําอะไรเพื่อให้เราไม่จมอยู่กับความทุกข์

คําเตือนในวิธีนี้เป็นเพียงการบรรเทาอาการในระยะสั่น และมันไม่เป็นการรักษาที่ต้นตอ เหมือนเอาหินไปทับหญ้าไว้เฉยๆไม่ให้มันโต แต่ยังไม่ได้ถอนรากของหญ้ามันออกมา มันเป็น distraction tactic หรือ การเปลี่ยนfocus ให้เราไม่หมกหมุ่นอยู่กับความเศร้าโศกเสียใจ ซึ่งการแก้ต้นตอก็เป็นเรื่องที่เราจะพูดในหัวข้อต่อไป

สร้างความชัดเจนกับตัวเอง

หลายคนเลิกมานานแล้วแต่ ยังคุย ยังเจอ ยังไปส่องsocialของเขา ยังมีความหวังกับความสัมพันธ์ การที่เราทําแบบนี้คือการที่เรานั้นไม่ชัดเจนกับตัวเอง และเมื่อเราไม่ชัดเจน มันก็เหมือนเราเหยียบเรือสองแคม จะเลิกก็ไม่เลิก 100 เปอร์เซ็น หรือว่าจะอยู่ก็ไม่อยู่ 100 เปอร์เซ็น เมื่อเราไม่ชัดเจนกับตัวเอง ผลลัพธ์ก็คือการที่เราตัดใจไม่ได้ ดังนั้นเราเองก็ต้องตัดสินใจให้ชัดเจนก่อนว่าจริงๆแล้วเราอยากเลิกหรือว่าเราอยากอยู่ ถ้าเราอยากเลิก แน่นอน เราก็ใจแข็งต่อให้เขาง้อมาทําดีและห่างจากเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้ ไม่ติดต่อให้ยังรักเขาอยู่ก็ตาม เลิกคุย เลิกติดต่อ ห้ามตัวเองไม่ให้ย้อนกลับไปคิดถึงเวลาดีๆที่เคยมีร่วมกัน เลิกคิดหาคําตอบว่าทําไมต้องเลิก ไม่ไปส่องsocialของเขา ของชิ้นไหนที่เห็นแล้วทําให้คิดถึงก็เอาออกไปจากชีวิต นี้คือการสร้างความชัดเจนให้กับตัวเองหากเราอยากรักษาอาการอกหัก

อย่ารีบกระโดดไปสร้างความสัมพันธ์ใหม่

การที่เราไปเริ่มความสัมพันธ์ใหม่โดยหวังว่ามันจะช่วยทําให้เรากลับมารู้สึกดี มันเป็นการฝึกให้ตัวเองพึ่งพาความสัมพันธ์เพื่อทําให้เราเองมีความสุข การทําเช่นนี้จะทําให้เราไม่สามารถมีความสุขได้เองหรือว่าเวลาที่เราอยู่คนเดียว เป็นการฝึกให้เราพึ่งพาคนอื่นเพื่อมาทําให้เรามีความสุข เหตุผลในการเริ่มความสัมพันธ์ใหม่แบบนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีกับเรา

อีกอย่างก็คือ การหาความสัมพันธ์ใหม่เพื่อมาเติมเต็มความสัมพันธ์ที่เพิ่งจบไปนั้นจะทําให้เราไม่ได้รักคนที่เข้ามาใหม่จริงและมองเขาเป็นแค่คนที่มาเติมเต็มช่องว่างที่คนเก่าทิ้งไว้ การทําเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะทําร้ายจิตใจและไม่เกียรติกับคนใหม่แล้ว มันก็จะกระทบต่อความความสัมพันธ์ในระยะยาวด้วย เพราะว่ามันจะะทําให้เราเปรียบเทียบคนใหม่กับคนเก่าอยู่เสมอๆ มันก็เหมือนกับว่าเราเองก็ไม่ได้รักคนใหม่เขาจริงๆ นี้ก็เป็นฝึกตัวเองให้เป็นคนที่เอาแต่ใจและเป็นเห็นใจคนอื่นเช่นกัน

รักษาแผลในใจของเราให้หาย

จะหายจากอาการอกหักได้โดยสิ้นเชิงเราก็ต้องรักษาที่จิตใจ ซึ่งเราก็ต้องมาดูว่าจิตใจเราเป็นอย่างไร มีอาการอะไรบ้าง ซึ่งส่วนมากอาการที่มาพร้อมความอกหักก็จะมี...

  • เสียใจ
  • โกรธ
  • หมดหวัง
  • ผิดหวัง
  • รู้สึกผิด
  • รู้สึกตัวเองไม่มีค่า
  • หมดความมั่นใจในตัวเองและความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
  • หมดความเชื่อใจในคนอื่น

ขั้นตอนต่อไปที่สําคัญก็คือเราจําต้องมาศึกษาถึงสาเหตุของมันว่าทําไมเราถึงรู้สึกแบบนี้ ยกตัวอย่างเช่น...

  • เสียใจเพราะยอมรับเหตุการที่เกิดขึ้นไม่ได้
  • โกรธเพราะเขาทําผิด ทิ้งเราไป หรือทําให้เราเสียหน้า
  • หมดหวังเพราะอยากรั้งไม่ให้เขาไปทั้งๆที่เขาไปแล้ว
  • รู้สึกตัวเองไม่มีค่าเพราะเอาค่าของตัวเองไปผูกกับคนที่เรารัก
  • โทษตัวเองเพราะทําอะไรที่ผิดไป

เมื่อเราทราบเหตุของมันแล้ว เราก็ต้องมาดูว่าเหตุพวกนี้มันเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีต่อเรา เช่น...

  • การที่เราไม่ยอมรับความจริงนี้ดีไหม ถ้าเรามองมันอย่างเป็นกลางด้วยสติปัญญาแล้ว เราก็จะเห็นว่า ตอนนี้ความจริงก็คือ เราเลิกกันแล้ว และทุกความสัมพันธ์สุดท้ายก็ต้องมีการจากลา ไม่ว่าจากเป็นหรือจากตาย การที่เราไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ผลที่ได้ก็มีอย่างเดียวก็คือ เราเองที่ทุกข์กับความจริงที่ไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิม ดังนั้นเราต้องยอมรับและอยู่ความจริงให้ได้
  • โกรธที่เขาทําผิดต่อเรา ถามว่าน่าโกรธไหมเวลาใครทําผิดต่อเรา ใครๆก็คงโกรธ แต่คําถามที่สําคัญกว่าก็คือแล้วเราโกรธไปแล้วสุดท้ายเราได้อะไร? เราไม่ได้อะไรนอกจากจิตใจที่ขุ่นมัว ดึงให้เราติดอยู่กับอดีต กีดกั้นเราไม่ให้สามารถมีความสุขในปัจจุบัน ทําไมเราต้องไปให้ค่าความโกรธมากกว่าความสุขด้วย? ทําไมเราต้องไปให้คนที่ทําผิดต่อเรามาขโมยความสุขของเราไปอีก? และการแก้แค้นหรือเอาคืนก็ไม่ได้ทําให้ใครหรืออะไรดีขึ้น นอกจากได้ความสะใจที่จริงๆแล้วก็คือการส่งเสริมและแพ้ต่ออีโก้ของตัวเอง
  • หมดหวังเพราะอยากให้เขากลับมา อันนี้เราก็ต้องเห็นว่าเหตุที่เราทุกข์นี้ไม่ใช่เพราะเขาไป แต่เพราะเราที่ยังอยากให้เขาอยู่กับเราทั้งๆที่เขาไปแล้ว ยิ่งรั้งยิ่งทุกข์ ดังนั้นเราต้องปล่อยวาง ให้ชีวิตมันเป็นไปตามกระแสของมัน คําพูดหนึ่งที่อาจจะช่วยเพื่อเตือนใจตัวเองก็คือ "อะไรไม่ใช่ของเรา ยังไงมันก็ไม่ใช่ของเรา"

อันนี้คือตัวอย่างของการรักษาแผลในใจเราที่ต้นตอ 1) คือการเข้าใจเหตุ เพราะเมื่อเราเห็นว่าเหตุที่ทําให้เรารู้สึก เสียใจ โกรธ หมดหวัง ผิดหวัง หรือว่า อารมณ์อะไรก็แล้ว และรู้ว่ามันไม่ดีต่อเรา จิตใจของเราก็จะอยากปล่อยวางเหตุพวกนี้จนทําให้เราเลิกเสียใจ โกรธ หมดหวัง หรืออะไรไปเอง

ต่อให้เรารู้อยู่แก่ใจมีเหตุผลมากมายว่าทําไมเราควรปล่อยวาง แต่บ่อยครั้งใจมันก็ยังไม่ยอม ซึ่งนี้ก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่คนอกหักเป็นบ่อยๆ อาการที่ความคิดกับใจไม่ตรงกัน เพราะเหตุนี้มากกว่าที่เราจะรู้เหตุผลที่จะปล่อยวาง เราเองก็ต้องฝึกให้จิตใจเราให้ปล่อยวางให้เป็นด้วย

ฝึกจิตใจให้ปล่อยวาง

จิตใจของมนุษย์นั้นไม่ได้สามารถปล่อยวางอะไรได้ง่ายๆ ต่อให้มันจะเข้าใจทุกเหตุผลก็ตาม มันก็ยังไม่อยากที่จะปล่อยวาง มันก็ยังอยากให้ชีวิตเป็นไปตามที่เราหวังมากกว่าที่จะยอมรับความจริงที่กําลังปรากฎ เพราะเหตุนี้วิธีที่จะช่วยให้ใจเราค่อยๆปล่อยวางได้ก็คือการที่เราจําเป็นจะค่อยๆเตือนและสอนมันจนกว่าที่มันจะเข้าใจ ยอมรับ และเห็นประโยชน์ในการปล่อยวาง

จังหวะที่ดีที่สุดในการฝึกจิตใจนั้นก็คือเวลาที่จิตใจเรามีความทุกข์ ไม่ยอมที่จะปล่อยวาง เช่น...

  • ยังคิดถึงเวลาดีๆที่เคยมีด้วยกัน
  • ยังคิดวนไปวนมาถึงคําถามในใจว่าทําไมถึงต้องเลิกกัน
  • ยังมีความโกรธไปคิดวางแผนเอาคืนในใจเพราะสิ่งที่อีกฝ่ายทํา
  • ยังรู้ผิดและโทษตัวเองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นที่เราไม่น่าทํา

นี้คืออาการของจิตใจที่ไม่ยอมปล่อยวาง ซึ่งเรามีแค่สองทางเลือกที่จะรับมือกับมันคือ...

1) เราจมไปกับมัน เราไปตามมัน เราคิดต่อจากมัน

2) เราเห็นจิตใจเราที่ยังไปคิดถึงอดีต และพยายามหักห้ามใจตัวเอง ให้พอ

แบบที่ 1) คือการทําอะไรไปตามจิตใจ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันไม่ได้ช่วยให้เราปล่อยวางหรือ move on ได้ แต่จะกลับทําให้เรายิ่งจมลงไปในความเสียใจความคิด จนอาจจะทําให้เราดิ่งได้ แบบที่ 2) คือการที่เรามีสติต่อความคิดและอารมณ์ที่เขามาแทรกแซงและชักจูให้เราไปทําอะไรตามความอยาก ซึ่งมันเป็นทางแห่งความทุกข์ มันไม่ได้ส่งเสริมให้เราอยู่กับความจริง

เรียนรู้จากความเจ็บปวด

หากเราสับสน ไม่แน่ใจว่าต้องใช้ชีวิตอย่างไร เพื่อใคร หรือว่าจะอยู่กับตัวเองคนเดียวโดยที่ไม่มีเขาอย่างไร คําตอบที่ดีและง่ายที่สุดก็คือการกลับมารักตัวเอง ต่อให้เรารู้สึกไม่ดี ก็พยายามดึงตัวเองไปทํากิจกรรมที่ทําให้เรามีความสุข ดูแลสุขภาพตัวเอง ออกกําลังให้มากขึ้น กินอาหารที่ดีขึ้น ไปเจอเพื่อนและครอบครัวให้มากขึ้น ไปเที่ยว ทําอะไรก็ได้ที่เพิ่มดูแลตัวเอง

เข้าใจกฎของเกมแห่งความรักที่ทุกคนหนีไม่พ้น

ความสุขกับความทุกข์นั้นเป็นของคู่กัน ความรักก็เช่นกัน หากเราเลือกที่จะรัก เราก็ต้องเตรียมใจว่ามันก็มีโอกาสเสมอที่จะหมดรัก มันมีโอกาสเสมอที่ความรักนั้นจะไม่ยั่งยืน หรือว่าต่อให้รักกันไปยาวนานวันหนึ่งจะต้องตายจากกันไปอยู่ดี นี้คือธรรมชาติและความจริงของความรักที่เราต้องเข้าใจ ดังนั้นหากเราเลือกที่จะรักเราก็ต้องกล้าและพร้อมที่จะเจ็บเพราะความรัก คนที่เข้าใจกฎแห่งความรักนี้จะไม่กลัวความเจ็บปวดหรือความผิดหวังที่มาพร้อมกับความรักเพราะเขารู้อยู่แล้วว่ามันเป็นของคู่กัน

เวลารักษาทุกอย่าง (ถ้าเราอยู่กับมันเป็น)

มันมีคําพูดที่ว่า "เวลารักษาทุกอย่าง" ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่บางทีก็ไม่จริงทั้งหมด เพราะหากว่าเราอยู่กับมันไม่เป็น เช่น ยังทําพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เราไม่ move on ยังคิดวนไปวนมาถึงเวลาดีๆที่มีกับเขาอยู่ ยังจมอยู่กับความเสียใจ ไม่ดูแลตัวเอง บางทีการเวลายิ่งกลับทําให้เรารู้สึกแย่ลงก็เป็นได้ ซึ่งทั้งหมดทีเขียนมานี้ก็เพื่อเตรียมตัวเราไม่ให้เป็นเช่นนั้นและรู้จักวิธีที่จะอยู่กับอาการอกหักให้ดีที่สุด หากเราเพิ่งเลิกกับคนที่เรารักมาไม่นาน ก็อยากให้เราใจเย็นๆกับตัวเอง อย่าไปเร่งหรือกดดันตัวเองให้หายหรือ move on ไวๆ เพราะทุกอย่างมันมีเวลาของมัน ใช้เวลานี้กลับมารักษาใจตัวเอง

ควรพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เมื่อ...

  1. ไม่มีทางออก
  2. อาการไม่ดีขึ้น
  3. พยายามแล้วแต่ไม่ได้ผล

สามารถใช้บริการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือสอบถามรายระเอียดได้ตามลิงก์นี้:

ปรึกษานักจิตวิทยา

สามารถใช้บริการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือสอบถามรายระเอียดได้ตามลิงก์นี้:

ปรึกษานักจิตวิทยา

สามารถให้ความคิดเห็นให้ กําลังใจ และช่วยพัฒนาได้ที่:

แบบฟอร์ม Feedback

ขอบคุณทุกความคิดเห็นและจะเอาไปพัฒนากล่องยาประจําใจครับ

สําหรับท่านที่อยากมีกล่องยาสามัญประจําใจไว้ที่บ้านหรือเป็นของฝากให้คนอื่นเมื่อกล่องยาประจําใจตีพิม สามารถติดต่อสั่งจองได้ที่:

แบบฟอร์มสั่งจองกล่องยาสามัญประจําใจ

หรือ

Line: @schooloflife

Line: @schooloflife

ตัวยาอาจจะใช้ได้กับบางคนแต่อาจจะไม่เหมาะกับบางคน โปรคใช้วิจรณญานและเลือกใช้ได้สิ่งที่เรารู้สึกว่าน่าจะใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้ก็ไม่ต้องใช้

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง