ด้อยค่า

เมื่อค่าที่เราให้กับตัวเองสําคัญกว่าค่าที่คนอื่นให้กับเรา เราจะไม่กลัวคําด่าหรือลอยไปตามคําชมของคนอื่น

206603 ศุภกร เลาหสงคราม

นักจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychologist)


ดีหรือร้ายมันอยู่ที่การเปรียบเทียบ

เราว่าเราดีแต่พอเราไปเปรียบเทียบกับคนที่เขาอุทิศชีวิตการทำงานด้วยใจเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น อย่างเช่น แม่ชีเทเรซา เราคงเทียบกับเขาไม่ได้เพราะเราไม่ได้ดีขนาดนั้น แต่ถ้าเราเทียบตัวเองกับนักการเมืองที่โกงกินชาติ จากเราที่เป็นคนปกติธรรมดา เราก็อาจจะกลายเป็นคนดีทันที แล้วตกลงเราดีหรือไม่ดี?

เราว่าเราจน แต่เอาเข้าจริงเมื่อเราไปเปรียบเทียบตัวเองกับคนอีกหลายๆคนในสังคมจะพบว่ายังมีคนที่จนกว่าเราอีกเยอะ เช่น ถ้าเราไปเปรียบเทียบเรากับคนในสลัม เราก็รวยกว่าเขา (อย่าลืมว่า คนในประเทศไทยทั้งหมด มากกว่า 85% มีเงินในบัญชีธนาคารไม่เกิน 50,000 บาท) แล้วตกลงเราจนหรือรวยกันแน่?

คําตอบนี้มันขึ้นอยู่กับว่าเราเปรียบเทียบตัวเองกับอะไรหรือกับใคร ถ้าเราเปรีบเทียบตัวเองกับคนรวย เราก็จน ถ้าเราเปรียบเทียบตัวเองกับคนจน เราก็รวย สุดท้ายแล้วเราไม่ได้รวยหรือจน เราก็เป็นอย่างที่เราเป็นนั่นแหละ จะรวยหรือจนมันจะจริง ก็อยู่ที่เราจะเปรียบเทียบตัวเรากับใครต่างหาก

อันนี้ตามหลักปรัชญา เขาเรียกว่า relative truth หรือความจริงสัมพันธ์ ความจริงอันเกิดขึ้นตามการเปรียบเทียบ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะยาว หรือ สั้น ไม่ว่าใครจะรวย หรือ จน หรืออะไรก็แล้วแต่ มันไม่ได้บ่งบอกความจริงในตัวของสิ่งนั้นๆแต่อย่างใด มันแค่บอกว่าสิ่งหนึ่งต่างกับสิ่งหนึ่งอย่างไรเท่านั้น อย่าเอาความจริงสัมพันธ์ที่เกิดจากการเปรียบเทียบมาสับสนกับความเป็นจริง มันไม่เหมือนกัน

ส่วนมากแล้วเราก็มักจะเปรียบเทียบตัวตามความอยากของเรา เช่น เราอยากรวยเราก็เปรียบเทียบตัวเองกับคนรวย เราก็เลยกลายเป็นคนจน ถ้าเราเปรียบเทียบตัวเองกับสิ่งที่เราอยากมีอยากเป็น มันก็แน่นอนอยู่แล้วว่าเราต้องรู้สึกด้อยค่าอยู่เสมอไม่มีวันสิ้นสุด สุดท้ายเราก็หาความสุขไม่ได้ นี่คือสาเหตุที่ว่าทําไม ความสุขจึงอยู่ที่ความพอใจในตัวของเราเอง

ด้อยค่าเพราะเอาค่าของตัวเองไปขึ้นกับสิ่งภายนอก

คนสมัยนี้ชอบหาค่าของตัวเองโดยเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เช่น ฉันมีประเป๋าไฮโซแสนแพง ฉันมีแฟนรวย ฉันมีแฟนหล่อ ฉันจบสูง ฉันทำงานดี ฉันมีเงิน แล้วก็เอาสิ่งพวกนี้มาเป็นตัววัดค่าตัวเองกับผู้อื่น มันก็อาจจะเป็นความจริงที่เราอาจดีหรือเก่งกว่าคนอื่น แต่ปัญหาก็กลายเป็นว่าค่าของเรามันขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่นอกตัวเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง หน้าที่การงาน หรือว่าการยอมรับในสังคม ซึ่งถ้าวันหนึงเราไม่มีสิ่งพวกนี้ก็เท่ากับว่าเราไม่มีค่าเลย เรากลายเป็น สวะสังคมเช่นนั้นหรือ?

หน้าตา เงินทอง ชื่อเสียง ตําแหน่งหน้าที่ คําด่า คําชม สิ่งพวกนี้ มาได้ก็หายได้ เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่ยั่งยืน และไม่อยู่กับเราตลอดไป ถ้าเราเอาค่าของเราไปผูกไว้กับสิ่งพวกนี้ ค่าของเราก็ไม่แน่นอนและพร้อมที่จะจากเราไปเสมอ นี่ก็หมายความว่า ค่าของเรามันไปผูกอยู่กับสิ่งของนอกกาย แต่ตัวเราเองกลับกลวงไม่ได้มีค่าอะไรเลย อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว และเป็นสิ่งที่เราต้องพึงระวังให้มากอย่าเผลอใจตัวเองเพราะเวลาอยู่ในสังคมทุนนิยมที่ชอบอวดตนมักดูคนจากสิ่งของภายนอกเสมอ

มีคนเคยพูดว่าคนยิ่งเอาค่าของตัวเองไปฝากไว้กับสิ่งภายนอกมากเท่าไร ค่าในตัวของเราก็ยิ่งตํ่าลงเท่านั้น การเอาค่าของเราไปฝากไว้กับสิ่งที่ไม่ใช่เราและไม่มีความแน่นอนนี้ จะทําให้เรารู้สึกด้อยค่าได้ง่ายมาก ดังนั้นถ้าอยากมีความสุข พยายามอย่าเอาค่าของเราไปผูกไว้กับสิ่งภายนอก จงอยู่กับความจริง ไม่ต้องไปยึดติดหรือเอามันมาวัดค่าตัวเรา ถึงเวลาแล้วมันจะได้ไม่ย้อนกลับมาด้อยค่าตัวเราเองอีก

ด้อยค่าเพราะโลภมาก

คนที่มองตัวเองด้วยความโลภ ไม่ว่าจะดีขนาดไหนก็ดีไม่พอ เหตุก็เพราะว่าธรรมชาติของความโลภนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ต่อให้เราเป็นคนที่รวยแล้วก็ตาม แต่ถ้าเราโลภอยากที่จะรวย..รวย ..เหมือนคนอื่นที่รวยกว่าเรา ดังนั้นในสายตาตัวเองแล้วเราก็จะเป็นคนจนอยู่ร่ำไป ความโลภจะบอกเราเสมอๆว่า "ทําไมเราไม่ดีเหมือนคนนั้น?" "ทําไมเราทําไม่ได้เหมือนคนนี้" เราคงไม่ชอบให้ใครมาตัดสินเรา แต่ในกรณีนี้ เราต่างหากที่ตัดสินตัวเองบนบรรทัดฐานของความโลภ สุดท้ายแล้วไม่มีใครที่จะหยุดหรือเติมเต็มความโลภของเราได้นอกจากตัวเราเอง ดังนั้นอย่าไปมองตัวเราหรือใช้ชีวิตตามความโลภ เพราะมันจะนําพาชีวิตให้เราโลภไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เราควรเรียนรู้ที่จะสร้างความพอใจให้กับตัวเอง รู้จักว่า ค่าของตัวเองมันอยู่ตรงไหน เพราะไม่อย่างนั้นเราจะรู้สึกด้อยค่าอยู่ตลอดเวลา ใช่หรือไม่?

หาค่าของเราให้เจอก่อนโลกจะหาค่าให้เรา

ในสายตาของคนที่เห็นแก่เงิน ถ้าเราจน เขาก็จะตัดสิน ตีค่า และรังเกียจเราโดยอัตโนมัติ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะการมีเงินนั้นมีค่ามากสําหรับเขา ในสายตาของคนที่รักสวยรักงาม ถ้าเราหน้าตาไม่สวยไม่หล่อ แต่งตัวดูไม่ดีมีสกุล ในสายตาเขา เราก็จะเป็นคนไม่เอาไหน ดูบ้านนอก หรือไม่น่าคบหา ส่วนในสายตาของคนที่บ้าตําแหน่ง ถ้าเราเป็นคนปกติไม่ได้มียศฐาบรรดาศักดิ์อะไร คนพวกนี้ก็จะด้อยค่าเราว่าเป็นคนตํ่าต้อย ไม่น่าเคารพ ไม่น่าให้เกียรติ หรืออาจจะดูถูกเรา ต่อให้เราไม่เคยได้ทําอะไรไม่ดีต่อเขาเลยก็ตาม นี้คือความจริงของชีวิตและสังคมที่มีค่านิยมแตกต่างกันไป คนหนึ่งก็ให้ค่าเราอย่างหนึ่งอีกคนก็ให้ค่าเราอีกอย่างหนึ่งแล้วแต่ว่าอะไรจะมีค่าในสายตาเขา

สมมุติว่าเราเป็นคนฉลาดแต่หน้าตาแย่ ตอนเช้า เราไปอยู่ในสังคมที่ให้ค่าความฉลาด เราก็รู้สึกเหมือนมีค่าขึ้นมา แต่ตอนเย็น เราไปอยู่ในสังคมที่ให้ค่ากับความสวยงาม กลับไม่มีใครสนใจเรา เห็นเราเป็นสิ่งน่ารังเกียจ จะเห็นได้ว่าเพียงแค่เพียงวันเดียวค่าของเราเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่มีความแน่นอนเลย แล้วค่าของเราอยู่ที่ไหนกันแน่?

คําตอบก็คือค่ามันอยู่ที่สายตาของคนมอง ค่าแบบนี้เขาเรียกว่า external validation หรือแปลว่าค่าที่ได้จากการวัดของคนอื่นหรือจากสิ่งภายนอก ข้อเสียของการหาค่าของตัวเองผ่านสิ่งภายนอกก็คือ ค่าของเรามันจะขึ้นๆลงๆตามสายของคนอื่นเสมอ เมื่อเราอยากจะมีค่าก็เท่ากับว่าเราจะต้องวิ่งไล่ตามสิ่งที่คนอื่นชอบ เขาบอกว่ารวยดี ก็หาเงินเพื่อให้คนอื่นยอมรับและยกย่องเรา เขาบอกว่าผอมดี เราก็อดอาหารจนผอมมากไป กลายเป็นทําลายสุขภาพตัวเองเพื่อให้ได้ตามที่สังคมบอกว่านี้คือ "สวย" เขาบอกว่าต้องมีอย่างนั้นต้องได้อย่างนี้ เราก็ทําตามกระแสไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มันเหนื่อย ไม่มีความไม่แน่นอน และหาที่สิ้นสุดไม่เจอ

ค่าที่ดีกว่าคือค่าที่เราให้กับตัวเอง หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Internal Validation ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นคนกวาดขยะ แต่เรารู้ค่าของเราดี เรากวาดถนนเพื่อคนอื่น เพื่อให้ถนนสวยงาม มันยังดีกว่าคนที่รํ่ารวยแต่กลับรู้สึกด้อยค่าเพราะเห็นคนอื่นรวยกว่า อย่างนี้เป็นต้น การที่เรารู้ค่าของตัวเองนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็เอาค่านี้ไปจากเราไม่ได้ ไม่ว่าใครจะมาดูถูก มาด่าว่า มาพูดอะไรก็แล้วแต่ แต่เราเองรู้อยู่ในใจว่าเราทําอะไรอยู่และค่าที่เราให้กับตัวเองอยู่ที่ไหน

คําถามที่อยากให้ลองไปคิดดูเพื่อช่วยในการสร้างค่าให้กับตัวเองก็คือ อะไรคือค่าของการเป็นมนุษย์? เราเกิดมาเพื่ออะไร? ชีวิตแบบไหนที่เราคิดว่ามีความหมายกับเรา มันเป็นคําถามที่เราไม่ค่อยได้ถามตัวเอง และเมื่อเราไม่รู้คําตอบหรือไม่ได้พยายามหาคําตอบ มันก็ง่ายที่เราจะตกหลุมพราง หรือ ลงเอย กับคําตอบที่สังคมให้เรา ดังนั้นเราจึงควรต้องรู้คุณค่าและจุดยืนของตัวเองให้ได้ ก่อนจะให้คนอื่นจะเป็นคนมาบอกเรา

เมื่อค่าที่เราให้กับตัวเองสําคัญกว่าค่าที่คนอื่นให้กับเรา เราจะไม่กลัวคําด่าหรือลอยไปตามคําชมของคนอื่น

Everybody's going to tell you how much you are worth. But at the end of the day, you must be the one who decides your own worth. Or else you will never know your worth or your worth will constantly depend on whatever others tell you, you are. And that kind of self-worth is too slippery. As Plato once puts it, it puts your happiness or self-worth in the hands of others--beyond one's own control. So stop looking for external validation and start giving yourself internal validation. That is how you can be free to live your life.

ด้อยค่าเพราะเปรียบเทียบตัวเองกับสิ่งที่เปรียบเทียบไม่ได้

ไม่มีใครเลือกเกิดได้ บางคนก็เกิดมาในครอบครัวที่อบอุ่น บางคนก็เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ บางคนโชคดีเกิดมาหน้าตาดี บางคนมีเกิดในกองเงินกองทอง ทุกคนมีต้นทุนทางชีวิตไม่เหมือนกัน จะไปอวดคนอื่นหรือจะไปด้อยค่าตัวเอง เพียงเพราะโชคชะตา มันก็คงไม่ถูกต้องสักเท่าไร บางทีเราเห็นคนอื่นพูดภาษาอังกฤษได้ เราก็อาจจะรู้สึกอิจฉาอยากพูดได้เหมือนเขา แต่ในความจริงแล้วมันอาจจะเปรียบเทียบกันไม่ได้และไม่ควรไปเปรียบเทียบตั้งแต่เริ่มอยู่แล้ว เพราะเขาอาจจะใช้เวลาศึกษามาเป็น 10 ปี กว่าจะพูดอ่านเขียนได้เก่งขนาดนั้น ดังนั้นมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไรที่เขาจะพูดและอ่านเขียนได้ดี ส่วนเราเองที่อาจจะยังไม่ได้แม้แต่ที่จะลองเริ่มเรียนเลยก็ด้อยค่าตัวเองเสียก่อนแล้วว่าทําไมเราไม่เก่งอย่างเขา อย่างนี้เขาเรียกว่าด้อยค่าตัวเองกับสิ่งที่ไม่ควรเอามาด้อยค่า เพราะมันเทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว สุดท้าย ชีวิตใครก็คือชีวิตมัน เรามีความต้องการไม่เหมือนกัน มีต้นทุนชีวิตไม่เหมือนกัน มีความสนใจไม่เหมือนกัน มีเหตุและผลที่ทําให้เรามาอยู่จุดที่ไม่เหมือนกัน แล้วเราจะไปเปรียบเทียบกันได้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรและไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้ ถ้าเปรียบเทียบไปแล้วมันช่วยให้เรามีกําลังใจและมีพลังที่จะพัฒนาตัวเองก็ดีไป แต่ส่วนมากเมื่อเปรียบเทียบเสร็จแล้วเราก็กลับมารู้สึกน้อยใจและหดหู่กับชีวิตตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำก็คือหาเวลาไปพัฒนาและเพิ่มทักษะต่างๆเพื่อเพิ่มคุณค่าของเราให้ได้

คนที่ชอบรู้สึกด้อยค่า จะด้อยค่าตัวเองก่อนจะมีคนอื่นมาด้อยค่าเสมอ

“ใครดูถูกเราได้อย่าไปใส่ใจขอให้จําไว้เราจะไม่ดูถูกตัวเอง”

- พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)

สิ่งที่แย่ไปกว่าการที่คนอื่นมาตัดสินเราก็คือการที่เราตัดสินตัวเอง บางทีเรายังไม่ทันที่จะได้ลงมือทําอะไรเลย เราก็ตัดสินตัวเองไปแล้วว่าเราจะทําไม่ได้ เราเก่งไม่พอ หรือว่า เราไม่มีความสามารถ บางทีในขณะที่เรามีความสุขดีอยู่ แต่เราก็กลับขุดเอาความผิดพลาดหรือความล้มเหลวในอดีตมาคิดมาทับถมตัวเองจนเรารู้สึกไร้ค่า นี้เรียกว่าเรามีนิสัยชอบคิดลบ

วิธีแก้อาการคิดลบมีสองวิธี:

  1. ต้องมีสติ เพื่อคอยจับความคิดที่มันไม่จริงและไม่เป็นประโยชน์กับเรา
  2. แทนที่จะคิดลบให้ฝึกทบทวนตัวเองว่าความคิดเรานั้นตรงกับความจริงหรือไม่

วิธีที่หนึ่งนี้ต้องฝึกสติ ฝึกสติให้คอยเห็นความคิดลบอยู่เป็นประจําจนเรามีความชํานาญพอที่จะเห็นและปล่อยวางความคิดลบลง ส่วนวิธีที่สองคือการหาความจริงให้กับความคิดของเรา อาการคิดลบคือการที่เราจดจ่อและคิดแต่เรื่องที่ไม่ดี จะแก้ได้ เราก็ต้องฝึกคิดใหม่ให้มันตรงตามความเป็นจริง เช่น แทนที่จะคิดว่าเราไม่มีค่าก็คิดว่าเราเคยทําอะไรแล้วเรารู้สึกดี รู้สึกชอบ และมีค่าบ้าง (อย่าเพิ่งบอกว่าไม่มี ลองหาก่อน) หรือมีเหตุผลอะไรไหมที่ความคิดลบของเรานั้นไม่ตรงกับความจริง เป็นต้น

คนไม่มีegoไม่มีอะไรให้ด้อยค่า

มีค่าหรือไม่มีค่าสุดท้ายแล้วมันก็เป็นแค่เรื่องของอีโก้ของเรา อีโก้ที่ต้องการว่าเรามีความหมาย.. อีโก้ที่ต้องการพิสูจน์อะไรบางอย่าง.. อีโก้อยากจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สําหรับคนที่ไม่มีอีโก้แล้ว เขาไม่มีความคิดเช่นนั้นเลย เพราะฉะนั้นบางทีที่เราทุกข์ รู้สึกด้อยค่า มันก็เพราะว่าเราเองอยากมีความหมาย ถ้าเรารู้ว่ามันก็เป็นแค่เรื่องของอีโก้ เราก็ไม่ได้ไปใส่ใจหรือให้ค่าอะไรกับมัน เดี๋ยวใจที่เรียกร้องและโหยหาความหมายก็หมดไปเอง

ทําทุกวันให้มีค่า

เราจะต้องใช้ชีวิตอย่างไรในทุกๆวันเพื่อให้เรารู้สึกว่าชีวิตนี้มีความหมาย? อันนี้คือคําถามที่เราต้องถามและตอบตัวเองให้ได้ทุกวัน ถ้าเราทําให้ชีวิตเรามีความหมายได้ในหนึ่งวัน เราก็สามารถทําอีกวันต่อไปได้ และเมื่อเราทําได้แบบนี้ทุกๆวัน สุดท้ายชีวิตเราก็จะเป็นชีวิตที่มีค่า การทําให้ชีวิตเรามีค่านั้นช่วยให้เราเห็นคุณค่าของตัวเองชัดเจน และมันเป็นสิ่งที่เราทําได้เลยทันทีไม่ควรรีรอ

ควรพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เมื่อ...

  1. ไม่มีทางออก
  2. อาการไม่ดีขึ้น
  3. พยายามแล้วแต่ไม่ได้ผล

สามารถใช้บริการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือสอบถามรายระเอียดได้ตามลิงก์นี้:

ปรึกษานักจิตวิทยา

สามารถใช้บริการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือสอบถามรายระเอียดได้ตามลิงก์นี้:

ปรึกษานักจิตวิทยา

สามารถให้ความคิดเห็นให้ กําลังใจ และช่วยพัฒนาได้ที่:

แบบฟอร์ม Feedback

ขอบคุณทุกความคิดเห็นและจะเอาไปพัฒนากล่องยาประจําใจครับ

สําหรับท่านที่อยากมีกล่องยาสามัญประจําใจไว้ที่บ้านหรือเป็นของฝากให้คนอื่นเมื่อกล่องยาประจําใจตีพิม สามารถติดต่อสั่งจองได้ที่:

แบบฟอร์มสั่งจองกล่องยาสามัญประจําใจ

หรือ

Line: @schooloflife

Line: @schooloflife

ตัวยาอาจจะใช้ได้กับบางคนแต่อาจจะไม่เหมาะกับบางคน โปรคใช้วิจรณญานและเลือกใช้ได้สิ่งที่เรารู้สึกว่าน่าจะใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้ก็ไม่ต้องใช้

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง