คิดมาก

“A human mind is a wandering mind, and a wandering mind is an unhappy mind.”

206603 ศุภกร เลาหสงคราม

นักจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychologist)


ผลเสียของการคิดมาก

  • ทําให้เรื่องที่ควรเป็นเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่
  • คิดมากจนบางทีหยุดไม่ได้
  • นอนไม่หลับ
  • ตื่นเช้าแล้วไม่สดชื่น
  • ทําให้หมดแรง เหนื่อยง่าย
  • ไม่มีสมาธิ
  • ทําให้ชีวิตเราไหลไปตามความคิด ถ้าคิดดีก็ดีไป แต่ถ้าคิดลบก็สามารถพาเราซึมเศร้าได้
  • อาจมีอาการ migraine หรือปวดท้อง
  • เครียด
  • ทําให้เซ็กส์เสื่อม

ธรรมชาติของความคิดเป็นอย่างไร?

มนุษย์ทุกคนคิดได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่คิดเป็น

มนุษย์สามารถคิดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดถ้าเราปล่อยให้ความคิดพาเราไป บางคนมีนิสัยคิดลบ พอมีเรื่องเล็กน้อยที่เกิดขึ้นเราก็ปล่อยให้ความคิดพาไปปรุงแต่งไปจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งบางคนทีนิสัยขี้กังวลก็ปล่อยความคิดให้วิ่งไป จากเรื่อง A  ไปเรื่อง B จากเรื่อง B ไปเรื่อง C อย่างไม่มีวันสิ้นสุดอย่างไร้จุดหมาย

DALL·E 2023-05-21 14.18.22 - an oil pastel painting of two men--the first standing on the ground waving to another man riding a horse.

ท่าน ติช นัท ฮันห์ หนึ่งในพระเซ็นผู้ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในยุค เคยเล่านิทานเซ็นในหนังสือ "Being Peace" ว่า มีชายคนหนึ่งกําลังขี่ม้าอย่างรวดเร็วเหมือนเขากําลังมุ่งหน้าจะไปที่แห่งหนึ่ง แล้วก็มีผู้ชายอีกคนตะโกนถามว่า "คุณกําลังไปไหน?" ชายที่ขึ่ม้าก็ขานกลับมาว่า "ผมก็ไม่รู้ ต้องถามม้ามันดู" อันนี้แปลว่าเราปล่อยให้ความคิดมามีอํานาจเหนือชีวิตเรา จริงๆแล้วไม่มีใครอยากคิดมากเกินกว่าจําเป็น ไม่มีใครอยากให้ความคิดพาเราไปคิดในเรื่องลบๆ ไม่มีใครอยากนอนไม่หลับ แต่สุดท้ายมันก็จะเกิดเป็นอย่างนั้นบ่อยๆ และก็มีแนวโน้มที่คนในยุคนี้จะเป็นมากขึ้นด้วย เหตุผลก็เพราะว่าเราไปปล่อยให้ความคิดมาใช้เรามากกว่าเราใช้ความคิดเราเอง การที่เราจะเปลี่ยนจากคนคิดมากมาเป็นคนคิดเป็นอย่างมีเหตุผลได้ก็ต้องมีการฝึกฝน คือ ฝึกวิธีคิด, ฝึกที่จะรู้ว่าความคิดแบบไหนควรหรือไม่ควรที่จะนำมาคิด, ฝึกที่จะสร้างระบบจัดการกับความคิด มีระเบียบวินัยให้กับความคิด ซึ่งในบทความหลังจากนี้จะพูดเรื่องนี้

ตราบใดที่ความคิดยังไม่มีการพิสูจน์ ความคิดนั้นคือความคิดที่ไม่ใช่ความจริง

ความคิดคือสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวเรา มันเป็นการจินตนาการ อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับความจริงก็ได้ แต่ปัญหาของคนคิดมากก็คือการที่เราแยกแยะไม่ได้ระหว่างความคิดกับความจริง และเมื่อเส้นแบ่งระหว่างความคิดกับความจริงนั้นบางมากๆ ทำให้ทุกความคิดก็เป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจและเก็บไปคิด จนสุดท้ายก็กลายเป็นคนคิดมาก

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิดไหนจริงความคิดไหนไม่จริง ก็ต้องพิสูจน์ ซึ่งส่วนมากแล้วคนที่คิดมากมักจะข้ามขั้นตอนนี้ไป และไปจึงจริงจังกับทุกความคิด ทางที่ดีก็คือ อย่าเพิ่งเชื่อทุกความคิด ตั้งแบบนี้ไว้ก่อนเลย เสร็จแล้วเราก็เอาแต่ละความคิดไปพิสูจน์ดู

เช่น เราคิดว่าคนคนนี้ไม่ชอบเรา แทนที่จะเก็บเอาไปคิดมาก เปลี่ยนมาลองพิสูจน์ความคิดก่อนว่ามันจริงไหม ลองทักเขาดูก่อน ลองพูดคุยกับเขาดูก่อน อย่าเพิ่งรีบตัดสินหรือตั้งแง่ใดๆ การทําเช่นนี้บ่อยๆจะสอนให้เราเกิดความชํานาญสามารถวิเคราะห์ได้ว่าความคิดแบบไหนที่เราควรนำมาคิดต่อ และความคิดแบบไหนที่เราควรวางเพราะว่าหลักฐานไม่พอ นี้เป็นสิ่งที่ทุกคนฝึกได้ และอาจจะสนุกด้วย เหมือนทําหน้าที่เป็นนักทดลองหรือนักสืบที่ต้องการพิสูจน์ความจริงของความคิดตัวเอง

รู้ขอบเขตของความคิด: บางคําตอบในชีวิตหาไม่ได้จากการคิด

จุดอ่อนของความคิดมากก็คือการที่เราเชื่อในความคิดเรามากเกินไป บางคนคิดเก่ง มีความรู้มาก ฉลาด ก็จะมีความเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองสูง เขาก็จะพึ่งพาความคิดในการหาคําตอบให้กับชีวิตเป็นหลัก แต่ปัญหาก็คือบางคําตอบหาไม่ได้โดยความคิด ยกตัวอย่างเช่น คนที่กังวลก่อนที่เราจะไปเรียนเมืองนอก ก็มานั่งคิดมากว่า จะอยู่ไหวไหม.. กังวลว่าเราจะเรียนกับเขารู้เรื่องหรือเปล่า.. จะถูกส่งกลับประเทศไหม.. ภาษาเราจะดีพอไหม คิดไปต่างๆนาๆ แต่สุดท้ายแล้วคําตอบบางทีมันก็ไม่มีและหาไม่เจอ จนกว่าเราเองจะได้ไปเรียนอยู่ที่นั่นและประสบปัญหาจริงๆ จะเห็นได้ว่าคนที่ไม่รู้ขอบเขตและไม่เห็นโทษของความคิดก็จะคิดฟุ้งซ่่านอย่างไร้จุดจบ ซึ่งเราควรหยุดมันให้ได้

ต้นตอของความคิดมากคือใจที่ไม่อยู่นิ่ง

“A human mind is a wandering mind, and a wandering mind is an unhappy mind.”

Harvard psychologists Matthew Killingsworth and Daniel Gilbert

ต้นตอของความคิดคือจิตใจที่มีกิเลส กิเลสแปลง่ายๆก็คือความอยาก (ที่ไม่ตรงหรือไม่เกี่ยวอะไรกับความจริง) เมื่อเราอยากให้ผลลัพธ์ออกมาตามที่เราต้องการ เราก็ต้องคิดให้มาก ยิ่งเรากลัวว่าผลลัพธ์จะไม่เป็นไปตามที่เราอยาก เราก็ยิ่งต้องคิดมาก เมื่อเรากังวลว่าผลลัพธ์จะเป็นหรือไม่เป็นไปตามที่เราอยากหรือไม่อยากเราก็ต้องมาคิดมากขึ้นไปอีก ต่อให้เรารู้แน่นอนว่ามันไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเรายังวางใจไม่ได้ ใจเราก็ยังวางเรื่องนั้นไม่ลง ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องคิดมากอยู่ดี

การไม่เชื่อใจแฟน กลัวแฟนนอกใจ นี้เป็นตัวอย่างที่ดีมาก จากประสบการที่ได้ให้คําปรึกษาคนมามาก บางคนก็ไม่สามารถเชื่อใจแฟนได้ต่อให้แฟนไม่เคยทําอะไรผิดเลยก็ตาม นี้ก็เพราะจิตใจเราที่กลัวและระแวงว่าเขาจะมีคนอื่น อยากให้เขาอยู่แต่กับเราคนเดียว อย่างนี้คิดมากไปแน่นอน ดังนั้นจะเลิกเป็นคนคิดมากได้ก็ต้องจัดการความอยากในจิตใจของตัวเอง เปลี่ยนจากความกลัวเป็นความไม่กล้ว เปลี่ยนความระแวงให้เป็นความไว้วางใจ เปลี่ยนจากความอยากให้เป็นความปล่อยวาง นี้คือการจัดการปัญหาที่จิตใจที่เป็นต้นตอของความคิดมาก

การจัดการกิเลสหรือความอยากในใจเรานั้นเป็นเรื่องลึกซึ้ง แต่สามารถสรุปสั้นๆให้เห็นข้อเสียของกิเลสได้ดังนี้:

  1. อะไรที่เราอยากให้มันเป็นก็มักไม่เป็นดังใจเราอยู่ดี เพราะชีวิตไม่เคยเป็นไปตามที่เราหวังทุกอย่างอยู่แล้ว (อนิจจัง) ยกตัวอย่างเช่น เราไม่อยากตายแต่ว่าเราจะไปหวังหรืออยากให้มันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะคนเราต้องตายทุกคน และจะตายวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ไม่มีใครรู้ได้
  2. ถ้าเราอยากไปก็ทําให้เราทุกข์เปล่าๆ เพราะชีวิตไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความอยากของเรา มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่มีเหตุปัจจัยของมันที่แน่นอน ฉะนั้น การที่เราอยากให้ความจริงเป็นไปตามใจเราก็จะทุกข์เปล่าๆ (ทุกขัง) ยกตัวอย่างเช่น เราไม่อยากให้คนรักเราจากไป แม้เราจะอยากหรือต้องการเช่นนั้น มันก็คงเป็นไปไม่ได้อยู่ดี เพราะกฎของการเวลา คือ มีเกิด แก่ เจ็บ สุดท้ายก็ต้องมีตาย เช่นกัน ความอยากของเราจะอยู่ตลอดไม่ได้ ถ้าอยากอยู่ก็คือทุกข์เมื่อนั้น
  3. เราอยากไปก็เท่านั้นเพราะว่าชีวิตไม่ได้เป็นตามที่เราหวังตั้งแต่ต้นแล้ว ชีวิตเรามันจะเป็นไปตามเหตุและผลของธรรมชาติ (อนัตตา) ยกตัวอย่างเช่น คนที่ไม่ชอบหรือไม่อยากให้คนอื่นนินทาเรา แต่ทุกคนมีปาก ดังนั้นเขาจะนินทาหรือไม่อันนี้มันเป็นสิทธของเขา เราไม่มีสิทธจะไปอยากหรือไม่อยากให้เขานินทาเรา มันอยู่นอกเหนืออํานาจหรือการควบคุมของเรา เมื่อมันอยู่นอกการควบคุมของเรา แล้วเราจะไปคิดกังวลว่าเขาจะนินทาหรือไม่นินทาได้อย่างไร ดังนั้นเราต้องปล่อยวางความอยากคิดเหล่านั้นทิ้งไปเพราะเราห้ามเขาไม่ได้

อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษา ฝึกฝน และเห็นเองด้วยใจของเราเพื่อให้ใจเราเข้าถึงความจริงของชีวิต เมื่อจิตใจเราเข้าใจแล้ว ใจเราก็จะรู้ว่ามันไม่มีอะไรต้องคิดมาก แค่เราคิดเท่าที่จําเป็นพอเราก็จะมีความสุข

ยารักอาการคิดมาก

รู้จักแยกแยะความคิดที่ไม่จริงและไม่เป็นประโยชน์

วันหนึ่งเราสามารถมีความคิดได้เป็นพันเป็นหมื่นเรื่อง เพียงแค่เราฝึกที่จะแยกแยะระหว่างเรื่องที่ควรและไม่ควรคิดนี้เราก็สามารถตัดความคิดที่ไม่ดีและไม่จําเป็นไปได้มาก ปัญหาคือเราไม่เคยฝึกที่จะแยกแยะ เราก็เลยเก็บทุกเรื่องมาคิด กลายเป็นคนคิดมาก ดังนั้นเราต้องมาทําความรู้จักกับความคิดก่อน โดยเฉพาะความคิดที่ไม่จริงและไม่เป็นประโยชน์นี้เราตัดทิ้งไปได้เลย เช่น การดูถูกตัวเอง (ด้อยค่า) การต่อว่าตัวเอง การคิดว่าเราทําอะไรไม่ได้ คำสบประมาทจากคนอื่นๆในอดีต เป็นต้น

สําครับคนที่เรียนมาทางด้านจิตตวิทยาก็จะทราบดีถึง CBT หรือ Cognitive Behavioral Therapy ซึ่งใน CBT นี้ก็มีการแยกความคิดที่ไม่จริงและไม่เป็นประโยชน์อยู่ 10 แบบ คือ:

1.คิดสุดโต่ง All-or-Nothing Thinking

หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Black and White Thinking คือการคิดแบบสุดโต่ง โดยไม่มีช่องวางระหว่างกลาง

ตัวอย่าง:"ในโลกนี้มีแต่คนดีกับไม่ดีเท่านั้น ไม่มีคนที่อยู่ตรงกลาง"

2.ด่วนสรุปไปก่อน Jumping to Conclusions

กระโดดไปหาคําตอบก่อนที่จะพิสูจน์ความคิดตัวเอง

ตัวอย่าง: "ฉันเพิ่งสอบไม่ผ่านหนึ่งครั้ง ดังนั้นจะคงไม่เก่งพอที่จะเรียนให้จบแน่นอน"

3.คิดตามความรู้สึกมากกว่าความจริง Emotional Reasoning

ใช้อารมณ์มาเป็นตัวตัดสิน

ตัวอย่าง: "ฉันรู้สึกเหงาดังนั้นก็แปลว่าไม่มีใครรักและอยากเป็นเพื่อนฉัน"

4.คิดแบบเหมารวม Over-generalizing

เอาสิ่งเล็กๆจุดเดียวมาตัดสินภาพรวม

ตัวอย่าง: "คนจีนเคยทําไม่ดีกับฉัน ดังนั้นฉันเลยเกลียดคนจีนทุกคน"

5.มองแต่จุดแย่เป็นหลักจนลืมที่จะเห็นจุดดี Ignoring the Good

ชีวิตเรามีสิ่งดีเยอะแยะ แต่เรามองชีวิตเราแค่ในสิ่งที่แย่ ที่ไม่เป็นตามใจเรา

ตัวอย่าง: "ฉันไม่ชอบตัวเอง ฉันเกลียดการใช้ชีวิตตัวเอง ฉันไม่รวย ฉันไม่เกง ฉันไม่ประสบความสําเร็จ (แต่จริงๆแล้วตัวเองมีชีวิตดี มีคนรักดี มีการศึกษาดี มีครอบครัวที่ดีคอยสนับสนุนทุกอย่าง ไม่เคยต้องอดอยาก ไม่ได้พิการหรือมีปัญหาอะไรทางสุขภาพเลย)

6.ทําเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ Catastrophizing

ตัวอย่าง: "แฟนไม่ตอบแชทย์ภายในครึ่งชั่วโมงแปลว่าเขากําลังนอกใจคุยกับคนอื่นอยู่"

7.ควรจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นแบบนี้ Should Statement

อยากให้ชีวิตเป็นไปตามใจเราโดยไม่เคยให้มันเป็นไปตามความจริง

ตัวอย่าง: "ตอนที่ฉันเรียนอยู่มหาลัย ฉันน่าจะกลับไปเรียนใหม่ในสาขานี้ ฉันน่าจะตั้งใจเรียนหนังสือมากกว่านี้ ฉันไม่น่าจะไปคบเพื่อนคนนี้ ฉันไม่น่ามาสมัครงานที่นี้" ทุกอย่างล้วนแต่เป็นอดีตที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว จะคิดให้เสียเวลาทำไมเล่า สู้เอาความคิดมาคิดว่าตอนนี้เราจะทําอะไรให้ดียิ่งขึ้นยังดีกว่าเป็นไหนๆ ใช่ไหมครับ

8.ตัดสินตัวเองอย่างไม่เป็นธรรม Judging Yourself Unfairly

อันนี้มีคําพูดอีกแบบหนึ่งว่า negative self-talk หรือ พูดง่ายว่ามีแต่ความคิดลบ บางทีคนที่ตัดสินตัวเองมากที่สุดก็คือตัวเราเอง เราไม่เคยให้ credit ตัวเองในสิ่งที่เราควรให้ มีแต่จะซํ้าเติมเรื่องที่ไม่ดีให้ตัวเองรู้สึกแย่

ตัวอย่าง: "ทําไมฉันสอบได้แค่ที่สองเอง ไม่ได้เรื่องเลย ฉันเก่งไม่พอ ฉันเกลียดตัวเอง ฉันล้มเหลว"

9.คิดไปก่อนเลยว่าทําไมได้ เปลี่ยนไม่ได้ ดีไม่ได้ ทั้งที่ยังไม่ได้ลองทํา Accepting Helplessness

ยอมรับความพ่ายแพ้ไปก่อนที่จะทําอะไรทั้งสิ้น

ตัวอย่าง: "ฉันว่าฉันไม่น่าจะมีเพื่อนได้เพราะว่าฉันพูดไม่เก่ง (แต่ว่ายังไม่เคยลองที่จะมีเพื่อนเลย)"

10.เป็นเพอร์เฟคชั่นนิส Perfectionism

เป็น perfectionist มากเกินจนยอมรับตัวเองหรือคนรอบข้างไม่ได้

ตัวอย่าง: "ชีวิตต้องเป็นไปตามใจฉันทุกอย่างไม่งั้นฉันจะไม่มีความสุข (แต่ชีวิตไม่เคยเป็นไปตามใจเราอยู่แล้ว)"

ตรวจตราความคิดเหมือนยามเฝ้าปราสาท

a van gogh style painting of a guard standing in the front the gate of a castle - Stable Diffusion

เมื่อเราทราบแล้วว่าความคิดไหนดีหรือไม่ดี เราก็ต้องเอาความรู้นี้มาตรวจตราความคิดของตัวเองให้เหมือนยามที่เฝ้าหน้าประตูของปราสาท โดยเฉพาะความคิดลบ ความคิดเพ้อเจ้อ ความคิดที่บั่นทอนจิตใจตัวเองนี้เป็นเหมือนโจรที่จะพยายามแอบเข้ามาในปราสาทของเรา ถ้าเราปล่อยให้ความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นมันก็สามารถนําพาชีวิตเราไปสู่หุบเหวแห่งความคิดต่างๆได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น เราต้องฝึกที่จะสังเกตความคิดของตัวเองให้มาก เหมือนการตรวจคนเข้าเมือง เราก็ต้องอย่าไปเชื่อทุกความคิด ลองพิสูจน์มันดูก่อน ลองถามความคิดเห็นของรอบข้องที่เขารักเราบ้างว่าความคิดเห็นของเรานั้นจริงๆหรือไม่ บางความคิดก็จริงแต่ไม่เป็นประโยชน์ก็มี เช่น ความผิดผลาดที่เราเคยทําไว้ในอดีตนี้ก็ไม่ควรเก็บเอาซํ้าเติมตัวเอง เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไร ต้องจริงและมีประโยชน์ถึงจะให้ผ่านเข้ามาในชีวิตเราได้

คิดมากเพราะไม่มีบทสรุป

ความคิดนี้มีสองแบบคือ 1) แบบปลายเปิด กับ 2) แบบปลายปิด คนที่ช่างคิดมักหาคําตอบจากความคิด และตราบใดที่ยังไม่มีคําตอบก็จะคิดวกไปวนมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจนกว่าจะเจอคําตอบ นี้คือความคิดแบบปลายเปิดที่สําหรับคนช่างคิดแล้วคือหายนะเพราะทําให้คิดมาก ดังนั้นวิธีที่คนช่างคิดชอบที่สุดในการแก้ไขปัญหาก็คือการที่เรามีบทสรุป หรือแผนการรับมือที่เราให้กับตัวเอง

ยกตัวเองเช่น การเข้าสังคม คนที่คิดมากก็จะมีคําถามปลายเปิดมากมายในหัว เขาจะคิดยังไงกับเรา ถ้าเขาไม่ชอบเราแล้วเราจะต้องทําตัวอย่างไร แล้วเราต้องพูดอะไรหรือไม่พูดอะไรบ้าง มีแต่ความคิดเต็มไปหมด แต่เพียงเรามีบทสรุปหรือคําตอบในการเข้าสังคมให้กับตัวเอง เราก็จะไม่คิดมาก เช่น เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับเราได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือตัวเราเอง ดังนั้นเวลาที่ฉันเข้าสังคมสิ่งที่ฉันคิดแค่อย่างเดียวคือฉันจะทําดีพูดดีและหวังดีต่อคนอื่น ไม่ว่าโดยการพูดหรือช่วยเหลือ นี้คือบทสรุปที่เราสามารถมีให้กับตัวเองเพื่อทําให้การเข้าสังคมเป็นความคิดแบบปลายปิดและทำให้มีความสุขมากขึ้น

ฝึกสติและสมาธิ

เราได้พูดถึงหน้าที่ของการเป็นยามที่คอยตรวจตราความคิดซึ่งสิ่งนี้คือการมีสติ หรือว่าการฝึกสมาธิเองก็ช่วยทําให้จิตใจเราสงบ ซึ่งเมื่อจิตเรามีกิเลสเข้ามาแทรก ก็ช่วยให้เราเห็นต้นตอของสิ่งที่มาก่อกวนจิตใจเราได้ชัดเจนและดีขึ้น เราได้พูดถึงเรื่องการมีคําตอบหรือบทสรุปให้กับตัวเอง การทําสมาธิก็ทําให้ปัญหาที่ดูตอนแรกเหมือนยุ่งเหยิงหรือยาก ให้กลายเป็นปัญหาที่มีคําตอบได้เพียงแค่เรามีความสงบเพียงพอ เหมือนนํ้าขุ่นที่รอตกตะกอนให้ใส เราได้พูดถึงเรื่องการที่ความคิดใช้เรามากกว่าเราใช้ความคิด การฝึกสติและสมาธิทําให้เราได้มีโอกาสที่จะใช้ความคิด มันทําให้เราเห็นความคิดมากกว่าที่จะปล่อยให้มันไหลไปตามความคิดแบบไม่มีประโยชน์ และเมื่อเห็นมันแล้ว เราก็มีโอกาสที่จะเลือกได้ว่าเราจะไปตามนั้นหรือไม่ นี้คือการเอาอํานาจในการตัดสินใจหรือใช้ความคิดกลับมาหาเรา หรือคําพูดที่ว่า:

“Between stimulus and response, there is a space. In that space is our power to choose our response. In our response lies our growth and our freedom.”

Viktor E. Frankl

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มานี้ก็ได้มาจากการฝึกสติและสมาธิ คือเห็นความคิดมากมาแล้ว เป็นประสบการณ์ที่มีการพัฒนาการจัดการความคิดของผมเองที่ผมได้มา แต่สุดท้ายความรู้นี้ก็เป็นแค่การชี้แนวทาง เพราะไม่มีใครทําให้เราได้นอกจากเราทําให้ตัวเอง

ควรพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เมื่อ...

  1. ไม่มีทางออก
  2. อาการไม่ดีขึ้น
  3. พยายามแล้วแต่ไม่ได้ผล

สามารถใช้บริการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือสอบถามรายระเอียดได้ตามลิงก์นี้:

ปรึกษานักจิตวิทยา

สามารถใช้บริการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือสอบถามรายระเอียดได้ตามลิงก์นี้:

ปรึกษานักจิตวิทยา

สามารถให้ความคิดเห็นให้ กําลังใจ และช่วยพัฒนาได้ที่:

แบบฟอร์ม Feedback

ขอบคุณทุกความคิดเห็นและจะเอาไปพัฒนากล่องยาประจําใจครับ

สําหรับท่านที่อยากมีกล่องยาสามัญประจําใจไว้ที่บ้านหรือเป็นของฝากให้คนอื่นเมื่อกล่องยาประจําใจตีพิม สามารถติดต่อสั่งจองได้ที่:

แบบฟอร์มสั่งจองกล่องยาสามัญประจําใจ

หรือ

Line: @schooloflife

Line: @schooloflife

ตัวยาอาจจะใช้ได้กับบางคนแต่อาจจะไม่เหมาะกับบางคน โปรคใช้วิจรณญานและเลือกใช้ได้สิ่งที่เรารู้สึกว่าน่าจะใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้ก็ไม่ต้องใช้

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง

DALL·E 2023-05-21 14.35.20 - a watercolor painting of someone stressing out

กังวล

“It does not do to dwell on dreams and forget to live.”

#กล่องยาสามัญประจําใจ

DALL·E 2023-02-13 10.13.19 - oil painting of a girl taking shelter in a cave from a raging thunder storm by the sea

เครียด

It is not the load that breaks you down but the way you carry it.

#กล่องยาสามัญประจําใจ