กังวล
“It does not do to dwell on dreams and forget to live.”
ความกังวลเหมือนแผลที่ยิ่งเกายิ่งคัน
เมื่อเรามีความกังวล สิ่งที่เราทํากับมันก็คือ การปล่อยให้ความกังวลนั้นมาสั่งมาบงการเรา ให้เราต้องไปคิดวนไปวนมา ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม ต้องไปหาผู้เชี่ยวชาญ ต้องไปพยายามไปจับผิดหรือดูว่ามันจะเป็นอย่างที่เรากังวลหรือไม่ การทําแบบนี้ดูผิวเผินเหมือนเป็นเรื่องที่ดี แต่ในทางจิตใจแล้ว มันยิ่งทําให้ความกังวลยิ่งมีอํานาจเหนือชีวิตเรา
หากความกังวลนั้นมีมูลความจริงอยู่บ้างก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะถือว่าความกังวลนี้ช่วยให้เราระมัดระวังต่อสิ่งไม่ดีที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ส่วนมากความกังวลของเรามักจะไม่จริง เรามักจะคิดไปเองหรือกังวลไปก่อน จนสุดท้ายเราเคยชินที่จะยอมต่อความกังวลทุกเรื่อง ไม่ว่าความกังวลนั้นจะจริงหรือไม่ มีหรือส่งผลร้ายต่อชีวิตเรา หลายคนอาจจะยอมจนสุดท้ายไม่สามารถห้ามตัวเองได้ที่จะไม่กังวล
หน้าที่ของเราต่อความกังวลก็คือ อย่าไปเกามัน ไม่ต้องทําอะไรกับมัน ไม่ต้องทําทุกอย่างที่ความกังวลบอกเรา มันจะสร้างเรื่องให้ดูน่ากลัวและเป็นไปได้มากขนาดไหน มันก็แค่ความกังวลที่พยายามาเป่าหูให้เรากลัวไปก่อน คิดถึงเรื่องร้ายไว้ก่อน ต่อให้มันจะไม่จริงหรือยังไม่ได้เกิดขึ้น เราก็แค่รับรู้ว่ามันก็เป็นแค่ความคิดที่มากจากความกังวล เมื่อเราเห็นมันแล้ว แทนที่เราจะทําอะไรไปตามความกังวล เราก็วางความกังวลลง และจัดการกับปัญหานั้นๆด้วยความไม่กลัว ด้วยสติปัญญา ด้วยความพอดี แค่นี้ความกังวลหมดอํานาจเอง เหมือนสัตว์ที่ไม่มีอาหารกิน นานเข้ามันก็เริ่มผอมและตายเองโดยที่เราไม่ต้องไปทําอะไร
ในทางจิตวิทยา เราเรียกวิธีการรักษาแบบนี้ว่า "Response Prevention" หรือเอาแบบง่ายๆก็คือ การรักษาโดยการไม่ต้องทําอะไรกับมัน ยิ่งเรามีความกลัวและเรายิ่งทําตามมัน ความกลัวหรือความกังวลนั้นยิ่งเป็นจริงและยิ่งรักษายาก ยิ่งเราเห็นความกังวลและไม่ทําอะไรกับ บวกกับว่าเวลาเราไม่ทําอะไรกับมันแล้ว ผลที่ได้ก็ไม่ต่างกับที่ทําอะไร เช่น กังวลไปก่อน เรายิ่งเห็นความไม่จําเป็นที่จะต้องกังวล ศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกว่าการ "disconfirm" หรือการพิสูจย์ให้เห็นว่าความกังวลของเรานั้นมันไม่จริง
การไม่ทําอะไรตามความกังวลในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรจัดการกับปัญหาหรือต้นตอที่ทําให้เรากังวล เพราะนั้นคือการละเลย แต่เป้าหมายก็คือ การฝึกที่จะกังวลแค่กับสิ่งที่ควรกังวลและจัดการกับมันด้วยสติสัมปชัญญะมากกว่าทําอะไรไปตามอํานาจของความกลัว
จัดการกับความคุ้นชินที่จะกลัว ก่อนที่ความกลัวจะมาจัดการชีวิตเรา
อย่ากลบเกลื่อนความกังวล
จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับคนที่มีความกังวล หลายคนใช้การกลบเกลื่อนในการรักษาความกังวล ยกตัวอย่างเช่น การหันมาฟัง Podcast หรือ ดูหนังฟังเพลง เพื่อให้ไม่คิดเรื่องที่เรากังวล อันนี้เรียกว่าการกลบเกลื่อน มันเป็นแค่การกดทับปัญหาไม่ให้ล้นออกมา เป็นแค่การบรรเทาแต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ลองนึกถึงภาพความกังวลที่เป็นเหมือนการต้มนํ้า ความกังวลก็คือไฟที่สร้างแรงดันไอนํ้าในหม้อ ส่วนการกลบเกลื่อนก็คือฝาหม้อที่ปิดเพื่อไม่ให้ไอน้ำออกมา เมื่อความกังวลมีมากเข้า สุดท้ายฝาหม้อก็เก็บไอน้ำไม่อยู่ถูกดันจนกระเด็นออกมา จะเห็นได้ว่าการกลบเกลื่อนเป็นการหนีปัญหาช่วยได้แค่ในระยะสั้น แต่ถ้าจะรักษาให้เลิกกังวลได้ ต้องมีการรักษาที่ถูกต้อง โดยจําเป็นต้องเริ่มด้วยความกลัาที่จะเผชิญหน้าและเข้าไปแก้ไขสาเหตุของไฟแห่งความกังวลให้ได้
ความกังวลแก้ได้ด้วยความรู้
หลายครั้งมากที่ความกังวลเกิดมาจากการที่เราไม่รู้ว่าเราจะต้องทําอะไรกับปัญหา แต่เราจะไม่กังวลถ้าเรารู้ว่าเราต้องทําอะไร หรือจัดการอย่างไรกับสถาณการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนั้น เราจะไม่กังวลเลยถ้าเราวางแผนรับมือกับอนาคตไว้ก่อนหน้าเรียบร้อยแล้ว แต่ในชีวิตจริงความกังวลจะเกิดเมื่อไรเราไม่สามารถรู้ได้ เราไม่มีแผนเลย และไม่มีบทสรุปให้กับตัวเองอย่างชัดเจนว่าเราควรจะรับมือและวางจิตใจเราอย่างไรดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือกําลังจะเกิดขึ้น เราจึงควรจัดการกับความกังวลที่เกิดขึ้นโดยค่อยๆเปลี่ยนสิ่งที่เราไม่รู้, ไม่ได้วางแผน และ ไม่รู้วิธีรับมือ ให้มาเป็นสิ่งที่เรารู้ และสามารถวางแผนและรับมือได้ เพื่อที่เราจะได้คลายความกังวล และหมดความกังวลในที่สุด
ยอมรับสิ่งที่แย่ที่สุดให้ได้
บางครั้งเราเจอปัญหาเล็กน้อยแต่ถ้าเราไม่ยอมรับมันก็อาจกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ได้ ในทางกลับกันปัญหาที่ใหญ่แต่ถ้ายอมรับและเข้าใจมันได้เราก็จะรู้สึกเหมือนว่ามันเป็นเรื่องเล็ก จริงแล้วอาการกังวลนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าเรื่องหรือปัญหาที่เรากําลังเผชิญ แต่มันเกิดจากการที่จิตใจเราเองไม่ยอมรับและไม่พยายามที่จะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น
แบบฝึกหัดที่จะขอแนะนําเพื่อลดความกังวลก็คือ การฝึกที่จะยอมรับสิ่งที่แย่ที่สุดให้ได้ เพราะสิ่งที่แย่ที่สุดคือสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากจะรับมันมากที่สุด แต่ถ้าเราสามารถยอมรับภาวะที่แย่ที่สุดได้ ปัญหาอื่นๆที่ลองลงมาก็จะไม่เป็นเรื่องที่น่ากังวลอีกต่อไป การยอมรับคือการวางใจของเราให้ถูกต้องต่อปัญหาที่เรากําลังเผชิญ ถ้ายอมรับไม่ได้แปลว่าเราปล่อยปละละเลย แต่ถ้าเรายอมรับและทําใจเราให้ใหญ่กว่าปัญหาที่เข้ามา ก็จะทําให้จิตใจเรานิ่งและมีสติพอที่จะแก้ไขปัญหาได้ ดีกว่าที่จะไปจมอยู่กับความกังวล
เราอาจจะเริ่มจากการถามตัวเองดูว่า อะไรคือสิ่งที่แย่ที่สุดที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น? ถ้าสิ่งที่แย่ที่สุดนั้นเกิดขึ้นจริงๆเรามีแผนการที่จะรับมืออย่างไร? เราทําอะไรได้บ้างตอนนี้เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดมาเกิดขึ้นกับเรา? และสิ่งที่เราคิดว่ามันแย่จริงๆแล้วมันแย่ขนาดนั้นเลยหรือ? หรือก็อาจจะมีอะไรดีๆแอบแฝงอยู่ ซึ่งเรายังมองไม่เห็นมัน การพิจารณาแบบนี้คือการพยายามเข้าไปแก้ไขความกังวล และเมื่อเราเรียนรู้ที่จะวางใจให้ถูกต้องต่อทุกสถานการณ์ได้อย่างชํานาญแล้วเราเองจะมีทักษะ แล ะภูมิต้านทานต่อความกังวลที่จะเกิดขึ้นและสามารถเอาชนะความกังวลได้อย่างสมบูรณ์
ฝึกปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามวิถีของมัน
คนที่มีความกังวลก็คือคนที่มีความยึดติดและไม่ปล่อยว่างชีวิต ยึดติดที่จะให้ชีวิตเป็นอย่างที่เราอยาก ไม่ปล่อยว่างในสิ่งที่เราต้องปล่อยวาง ยกตัวอย่างเช่น ชีวิตเรานี้ ทุกคนเกิดมาก็ต้องตาย ไม่มีใครหนีความตายได้ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ รวยหรือจน นี้คือวิถีของชีวิต แต่มนุษย์ไม่เป็นอย่างนั้น เราอยากอยู่อย่างเดียว ไม่อยากตาย เรากลัวตาย เมื่อเราเจ็บไขได้ป่วยหรือมีคนที่เรารักตาย เราไม่ยอมรับมัน การไม่ยอมรับนี้คือความกังวลคือความเครียดคือสิ่งที่ทําให้เราทุกข์กับชีวิต
ดังนั้นเราต้องฝึกปล่อยให้ชีวิตมันเป็นไปตามกระแสของมันบ้าง บางที่มันอาจจะออกมาดีกว่าที่เราคิดก็ได้ หรือถ้ามันออกมาแย่จริงๆ เราก็ต้องยอมรับและอยู่กับมันให้ได้ การฝึกจิตใจให้เป็นคนยอมรับความจริงได้นั้นคือการรักษานิสัยที่ส่งเสริมหรือภาวะความกังวลได้เป็นอย่างดี
ความกังวลเกิดจากความรู้สึก ไม่ได้เกิดจากความจริง
สิ่งที่เรากังวลอาจจะไม่เกิดขึ้นจริงเสมอไป จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับคนที่มีอาการกังวล มากกว่า 95 เปอร์เซ็นยอมรับว่าเรื่องที่กังวลมักไม่เคยเกิดขึ้นจริง ความกังวลเป็นเพียงความรู้สึกที่เราไม่สามารถวางมันลงได้ และยังไม่ได้ช่วยบ่งบอกอะไรเลยว่ามันเป็นเรื่องจริงหรืออาจเกิดขึ้นได้ หลายครั้งสิ่งที่เราได้จากความกังวล ก็คือ ความกังวลที่มากขึ้น มันทําให้เราเครียด... นอนไม่หลับ.. เสียสุขภาพจิต และอาจจะทําให้เสียการเสียงานเลยก็มี
คนที่มีความกังวลอยู่คือคนที่ใชัชีวิตอยู่ในความฝันมากกว่าความจริง ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะอยู่บ้านกับครอบครัวแต่ใจเรากลับไปคิดจินตนาการถึงสิ่งแย่ๆที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น ดังนั้น แทนที่เราจะมีความสุขกับครอบครัวที่อยู่ข้างหน้าเราตอนนี้ เรากลับไปเอาเรื่องที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นมาทําลายความสุขของเรา นี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรเลยจากการที่เราเอาความสุขที่มีอยู่ต่อหน้าเราไปแลกกับความทุกข์ที่เราจินตนาการขึ้นมา แล้วเราจะทำเช่นนั้น..เพื่ออะไร
ถ้าใครเคยอ่าน Harry Potter ก็จะทราบดีว่า Dumbledore เคยพูดกับ Harry Potter ว่า:
“It does not do to dwell on dreams and forget to live.”
ความหมายของคําพูดนี้ก็คือ มันไม่ดีเลยที่เราจะใช้ชีวิตอยู่ในความฝันจนลืมที่จะใช้ชีวิตตามความเป็นจริง ความกังวลคือการหมกมุ่นในความฝันจนลืมชีวิตจริง ฝันไม่อยากให้มันเกิด ..ฝันไม่อยากให้มันเป็น ฝันว่ามันจะน่ากลัวอย่างนั้นอย่างนี้.. หรือเกรงว่าเราอาจจะเจอสิ่งไม่ดี.. ฝันทั้งๆที่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ฝันจนไม่รู้ว่าอะไรคือเรื่องจริงหรือเรื่องไม่จริง ผลสุดท้าย เมื่อเราติดกับอยู่แต่ในความฝันจนไม่ให้ความสําคัญกับชีวิตจริง ชีวิตจริงเราก็มีแต่เสีย..และก็พัง ในที่สุด
มันน่ากังวลขนาดนั้นจริงหรือเปล่า?
คนที่มีความกังวลมักคิดว่าสิ่งที่กังวลเป็นของที่ต้องเกิดแน่นอน แต่เราไม่เคยคิดที่จะพิสูจน์มันเลยว่ามันจริงอย่างที่เรากังวลหรือเปล่า เรากลับเชื่อและกังวลไปก่อนแล้ว บางทีเรากังวลไปว่ามันจะต้องไม่ดีแน่ๆเลย แต่พอประสบเข้าจริง อ้าว..มันดีกว่าที่คิดก็มี หรือบางทีเรากังวลไปว่ามันจะไม่ดีแต่มันกลับแย่ยิ่งกว่าที่เราคิดก็มี สรุปก็คือกังวลไปก็ไม่ได้อะไร เพราะความกังวลไม่ใช่เรื่องจริงและเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น มันแค่จริงเท่าที่เราอยากให้มันจริง มันไม่มีความแน่นอนใดๆ จะรักษาอาการกังวลได้เราก็จําเป็นจะต้องฝึกการทักท้วงตัวเอง ว่ามันจริงอย่างที่ความกังวลบอกเราหรือเปล่า หรือว่าเราแค่คิดไปเอง เราควรต้องฝึกที่จะรู้จักการมองให้ครบทุกมุม ว่า อย่าเพิ่งรีบเชื่อทุกอย่างที่ความกังวลบอกเรา การทําได้แบบนี้ได้ไม่เพียงช่วยผ่อนคลายอาการกังวล แต่มันฝึกให้เราเกิดทักษะและความชํานาญในการจัดการความกังวล ที่หลายๆครั้งก็ไม่จริง..ไม่เกิดขึ้น ..และไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรต่อชีวิตเรา
ยิ่งยอมแพ้ยิ่งมีเรื่องกังวล
ชีวิตคนเรา ถ้าเหนื่อย เราพักได้ เราท้อได้ เราเครียดได้ แต่ว่าเราจะยอมแพ้ไม่ได้ เพราะว่า ยิ่งเรายอมแพ้เรายิ่งมีเรื่องให้กังวลมากขึ้น การยอมแพ้จึงเปรียบเสมือนการสร้างปัญหาให้กับตัวเองซึ่งในที่สุดก็จะกลับมาทำให้เรากังวลมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อเรามีเรื่องกังวลเกิดขึ้น เราไม่มีทางเลือกอื่นเลยนอกจากการที่เราจะต้องสู้และอดทน และ ต้องแก้ปัญหานั้นให้ได้ ต่อให้ชีวิตเราดีแล้วเราก็ต้องทําให้ดีที่สุด หรือยิ่งถ้าชีวิตเราแย่ เราก็ยิ่งต้องทําให้ดีที่สุดแบบหัวชนฝา ไม่มีใครเลือกชีวิตได้ ใครก็อยากเกิดมาหน้าตาดี เจอแต่สิ่งดีๆ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่ชีวิตคนเรามีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา เราควรจะเลือกทําสิ่งดีๆให้กับชีวิต ซึ่งในที่สุดแล้วไม่ว่าชีวิตเราจะดีหรือจะร้าย หน้าที่ของเรา ก็คือ การทําทุกวันให้ดีที่สุด อันนี้คือสิ่งที่เราควรทําและควรตั้งปณิธานไว้ในใจอย่างแน่วแน่
ควรพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เมื่อ...
- ไม่มีทางออก
- อาการไม่ดีขึ้น
- พยายามแล้วแต่ไม่ได้ผล
สามารถใช้บริการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือสอบถามรายระเอียดได้ตามลิงก์นี้:
สามารถใช้บริการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือสอบถามรายระเอียดได้ตามลิงก์นี้:
สามารถให้ความคิดเห็นให้ กําลังใจ และช่วยพัฒนาได้ที่:
ขอบคุณทุกความคิดเห็นและจะเอาไปพัฒนากล่องยาประจําใจครับ
สําหรับท่านที่อยากมีกล่องยาสามัญประจําใจไว้ที่บ้านหรือเป็นของฝากให้คนอื่นเมื่อกล่องยาประจําใจตีพิม สามารถติดต่อสั่งจองได้ที่:
แบบฟอร์มสั่งจองกล่องยาสามัญประจําใจ
หรือ
Line: @schooloflife
Line: @schooloflife
ตัวยาอาจจะใช้ได้กับบางคนแต่อาจจะไม่เหมาะกับบางคน โปรคใช้วิจรณญานและเลือกใช้ได้สิ่งที่เรารู้สึกว่าน่าจะใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้ก็ไม่ต้องใช้
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
คิดมาก
“A human mind is a wandering mind, and a wandering mind is an unhappy mind.”
#กล่องยาสามัญประจําใจ